วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ภาวนาสูตร


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนา แม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร จะพึงกล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้เจริญ เพราะไม่ได้เจริญอะไร เพราะไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘



ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนา แม้จะไม่พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร พึงกล่าวได้ว่า เพราะเจริญ เพราะเจริญอะไร เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ 



ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ แม้จะไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้ เมื่อวานสิ้นไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสิ้นไปเท่านี้ แต่ที่จริง เมื่ออาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้นก็รู้ว่าสิ้นไปนั่นเทียว



เปรียบเหมือนเรือเดินสมุทรที่เขาผูกหวาย ขันชะเนาะแล้วแล่นไปในน้ำตลอด ๖ เดือน ถึงฤดูหนาว เข็นขึ้นบก เครื่องผูกประจำเรือตากลมและแดดไว้ เครื่องผูกเหล่านั้นถูกฝนชะ ย่อมชำรุดเสียหาย เป็นของเปื่อยไปโดยไม่ยาก ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ สังโยชน์ย่อมสงบระงับไปโดยไม่ยาก ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ

(คัดย่อ)
แอบจุก แฮะๆๆ

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

อัคคิขันธูปมสูตร

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดกองไฟใหญ่โน้น ที่กำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่ กับการเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์หรือบุตรสาว คฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน ฯ

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การที่บุคคลเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอด พระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอันอ่อนนุ่ม นี้ประเสริฐกว่า ส่วนการที่บุคคลเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดกองไฟใหญ่โน้น ที่กำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่ เป็นทุกข์ ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอ ทั้งหลาย การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรกน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดกล้า เป็นดังหยากเยื่อ เข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์หรือบุตรสาวคฤหบดี จะประเสริฐอย่างไร การเข้าไปนั่งกอดนอนกอดกองไฟใหญ่โน้นที่กำลังลุกรุ่งโรจน์ โชติช่วงอยู่ นี้ดีกว่า

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาจะพึงถึงความตายหรือทุกข์ ปางตาย เพราะการเข้าไปกอดกองไฟใหญ่นั้นเป็นเหตุ แต่ผู้นั้นเมื่อตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะการเข้าไปกอดกองไฟใหญ่นั้น เป็นปัจจัย ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก มีความประพฤติสกปรก น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดกล้า เป็นดังหยากเยื่อ เข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดพระราชธิดา บุตรสาว พราหมณ์หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่มนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อ ความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนานแก่เขา และผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

(ความย่อ)

ผู้ทุศีลนั้น    ไปกอดกองไฟกองใหญ่ที่ลุกโชติช่วงนั้น
ยังดีกว่า      ไปกอดธิดา หรือบุตรสาวพราหมณ์

ผู้ทุศีลนั้น          ไปโดนเชือกหนังอันเหนียว    พันแข้งทั้งสองข้างแล้วชักไปมาจนเชือกหนัง นั้นบาดผิว บาดเนื้อ  ตัดเอ็น  ตัดกระดูก ไปจนถึงเยื่อในกระดูก
ยังดีเสียกว่า       ให้กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีมากราบไหว้

ผู้ทุศีลนั้น          ไปโดนบุรุษที่มีกำลังเอาหอกอันคม ที่ชโลมน้ำมันพุ่งใส่กลางอก
ยังดีเสียกว่า       ให้กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีมากราบอัญชลี

ผู้ทุศีลนั้น          ไปโดนบุรุษที่มีกำลัง นำเอาแผ่นเหล็กแดง มีไฟกำลัง ลุกโชติช่วงนาบ กายตัว
ยังดีเสียกว่า      ได้ใช้จีวรที่เขาถวายด้วยความศรัทธา

ผู้ทุศีลนั้น          ไปโดนบุรุษที่มีกำลัง นำตะขอเหล็กแดงง้างปากให้อ้าไว้ กรอกด้วยก้อนเหล็กแดงเข้าไปในปาก   ก้อนเหล็กแดงที่เข้าไปในปากนั้น จะไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก ไหม้ลิ้น ไหม้คอ ไหม้อก ไหม้เรื่อยไปจนถึง ลำไส้ใหญ่ แล้วออกทางทวาร
ยังดีเสียกว่า     บริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธานั้น

ผู้ทุศีลนั้น          ไปโดนบุรุษที่มีกำลัง จับที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วให้นั่งทับ นอนทับ บนเตียงเหล็กหรือตั่งเหล็กแดงที่มีไฟกำลังลุกโชติช่วง
ยังดีเสียกว่า      ไปใช้เตียงตั่งที่เขาถวาย ด้วยศรัทธา

ผู้ทุศีลนั้น          ไปโดนบุรุษที่มีกำลัง  จับมัดเอาเท้าขึ้นเอาหัวลง โยนลงในหม้อเหล็กแดง ที่มีไฟกำลังลุกโชติช่วง ผู้นั้นถูกไฟเผาเดือด  ลอยไปลอยมา   บางครั้ง  ลอยขึ้นข้างบน บางครั้งจมลงข้างล่าง บางครั้งลอยไปทางขวาง
ยังดีเสียกว่า       เข้าไปใช้วิหารที่เขาถวายด้วยความศรัทธา

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว และเมื่อกำลังตรัส ไวยากรณภาษิตนี้อยู่ โลหิตร้อนพุ่งออกจากปากของภิกษุ ๖๐ รูป (พวกต้น) ภิกษุ ๖๐ รูป (พวกกลาง) ลาสิกขา สึกมาเป็นคฤหัสถ์ ด้วยกราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทำได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทำได้ แสนยาก อีก ๖๐ รูป จิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ฯ

ส่วนหนึ่งคัดลอกจาก
www.tong9.con

ปฏิจจสมุปบาท



  • ความไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ไม่ทราบ,ไม่รู้ธรรมชาติของทุกข์ คือ ไม่รู้กระบวนธรรมการเกิดขึ้น และการดับไปแห่งทุกข์ คือ ไม่รู้ในธรรมข้อที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งกัน อาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้ตามหลักอิทัปปัจจยตา  เมื่อกําจัดเหตุปัจจัยบางประการเสียได้ ย่อมทําให้ธรรมนั้นไม่ครบองค์หรือขาดสมดุลย์ที่จะประชุมปรุงแต่งกันขึ้นมาได้   อุปาทานทุกข์หรือธรรมนั้นๆก็ย่อมไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้  (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)



  • เนื่องจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจจึงหยุดวงจรแห่งทุกข์นั้นไม่ได้,  และเหล่าอาสวะกิเลสเหล่านี้จะหมักหมม นอนเนื่องอยู่ในจิต ตามปกติจะมองไม่เห็นเช่น โกรธเกลียดใครอยู่คนหนึ่ง และไม่พบกันเป็นเวลานานๆ  เมื่อกาลเวลาผ่านไปเป็นเวลาหลายปีเมื่อมาเจอกันอีก อาสวะกิเลส(อุปายาส-ความขุ่นข้อง คับแค้นใจ)ที่นอนเนื่องสงบอยู่ จนไม่เคยคิดว่ายังมีอยู่  จะเกิดขึ้นทันที [สัญญาสินะ]


  • เพราะอวิชชาคือไม่รู้ในรูปที่ตาเห็นนั้น จึงได้ยึดถือแล้วก็ปรุงแต่งรูปนั้น ว่านี่สวยนี่งาม นี่ไม่สวยนี่ไม่งาม นี่เป็นสังขารคือปรุงแต่ง กิเลสก็เกิดขึ้นจับทันที ราคะความติดความยินดี โลภะความโลภอยากได้ก็บังเกิด หรือว่าโทสะปฏิฆะความหงุดหงิดกระทบกระทั่งขัดเคือง
    อันที่จริงนั้นเมื่อคนเห็นอะไรทางตา รูปที่ตาเห็นนั้นก็เกิดดับไปทันทีในขณะนั้น แล้วรูปอื่น เห็นรูปอื่นขึ้นอีกก็เกิดดับไปทันทีในขณะนั้น แต่คราวนี้ยังไม่ดับอยู่ในใจ เพราะว่าจิตใจนี้ยังมีอวิชชาคือไม่รู้ว่านี่คือตัวทุกข์ เป็นตัวสังขาร เป็นสิ่งที่เกิดดับ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงยึดถือ ยึดถือเอารูปนั้นมาตั้งอยู่ในใจ
.......


  • มีสติรู้เท่าทันจิต หรือจิตสังขารที่เกิดขึ้นแล้ว อันคือจิตตานุปัสสนาในสติปัฏฐานอันได้แก่ ความคิดนึกปรุงแต่งมักมีกิเลสตัณหาแฝงมากับเวทนาด้วยอย่างไม่รู้ตัว  ซึ่งมักแอบแฝงมาในรูปความคิดเห็นต่างๆอันย่อมมีเวทนาเกิดขึ้นแต่ไม่แสดงอย่างชัดเจนว่าเกิดกิเลสตัณหา

คัดลอกจาก
www.nkgen.comwww.dhamma-gateway.com
.......
  • เหตุแห่งทุกข์นั้นยังมีอยู่  แต่ไม่มีผู้รับผลทุกข์นั้น
    (ทุกฺขเมว หิ น โกจิ ทุกฺขิโต การโก น, กิริยา วิชฺชติ)

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พบอาจารย์ #2

ได้พบพระอาจารย์ที่แนวสนทนาถูกจริตมากๆ ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรม
สนทนาร่วมชั่วโมงได้ แต่ขอจดบันทึกประเด็นสำคัญไว้ดังนี้


  • เมื่อมีความเห็นผิดอยู่ แม้จะปรารถนาพระนิพพาน ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ จิตจะรู้ว่าไม่ใช่จังหวะที่ตายนั่นเอง
  • บุคคลที่เป็นอรหันต์ จะไม่เกิดอีก เพราะไม่มีวิบาก (กิริยาจิต) ดังนั้น โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น ให้มีสติรู้ แต่ไม่ต้องไปรับให้กลายเป็นกิเลส กลายเป็นการสร้างเหตุใหม่ (เพราะทำด้วยวิถีจิต) สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราทั้งจากกุศลหรืออกุศลก็ให้จบไป
  • เมื่ออยู่ในช่วงอทุกขมสุข ก็ต้องรู้ และพิจารณาถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เพราะตัวนี้เป็นโมหะ คือความหลง
  • การละอนุสัย ให้ละตัวตนออกไป

ธัมมุทเทส 4

พระเจ้าโกรัพยะประทับนั่งแล้ว ได้ตรัสกะท่านพระรัฐปาละว่า

ท่านรัฐปาละผู้เจริญ ความเสื่อม ๔ ประการนี้ คือ ความเสื่อมเพราะชรา ๑ ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้ ๑ ความเสื่อมจากโภคสมบัติ ๑ ความเสื่อมจากญาติ ๑ คนบางพวกในโลกนี้เมื่อประสพความเสื่อมเหล่านี้แล้ว ย่อมปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ท่านรัฐปาละ ความเสื่อม ๔ ประการนี้ ที่คนบางพวกในโลกนี้ถึงเข้าแล้ว จึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต  ท่านรัฐปาละไม่ได้มีความเสื่อมเหล่านั้นเลย

ท่านรัฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตเสียเล่า?

ท่านพระรัฐปาละถวายพระพรว่า มีอยู่แล มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงแสดงธัมมุทเทส ๔ ข้อ ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ธัมมุทเทส ๔ ข้อเป็นไฉน? คือ

๑. โลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน

๒. โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน

๓. โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป

๔. โลกบกพร่องอยู่เป็นนิตย์ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

ดูกรมหาบพิตร ธัมมุทเทส ๔ ข้อนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

คัดลอกจาก:
www.dhamma-gateway.com

ความเศร้าหมอง

เริ่มจากหลายวันก่อนนั้น เกิดอาการน้อยเนื้อต่ำใจ (เรื่องงาน-จากการเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนร่วมงาน) จริงๆก็ฉุกคิดได้นะว่า นี่คืออารมณ์เศร้าหมอง แต่ต้องทำยังไง
ก็ได้พบในบทความของหลวงพ่อปราโมช ปาโมชฺโช อย่างนี้ว่า

"ไม่ใช่ให้เห็นว่าเราเศร้าหมอง ให้เห็นว่าความเศร้าหมองนั้นไม่ใช่เรา จิตอันหนึ่ง ความเศร้าหมองอีกอันหนึ่ง ความเศร้าหมองเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความเศร้าหมองไม่ใช่ตัวเรา ความเศร้าหมองมันไม่ใช่จิตด้วย"

อ่านเพียงเท่านี้ ความเศร้าหมองก็หลุดไป
กลายเป็นความว่าง

แล้วติดอะไรอยู่หนอ เท่าไหนคือนิพพาน
ก็ได้พบบทความของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล อย่างนี้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย   บุคคลอาศัยจักษุและรูป เกิดจักษุวิญญาณ  ความประจวบกันของธรรมทั้ง๓เป็นผัสสะ  และเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์(เวทนา เป็นสุขบ้าง  เป็นทุกข์บ้าง  มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง)

เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว  ย่อมไม่เพลิดเพลิน  ไม่พูดถึง  ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ  จึงไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่

อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว  ย่อมไม่เศร้าโศก  ไม่ลำบาก  ไม่ร่ำไห้  ไม่คร่ำครวญทุ่มอก  ไม่ถึงความหลงพร้อม  จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่

อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว  ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น  ความดับไป  คุณ  โทษ  และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง  จึงไม่มีอวิชชานุสัย  นอนเนื่องอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ข้อที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนาบรรเทา,  ละปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนา,  ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา,  ยังวิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้  แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้  นั่นเป็นฐานะที่มีได้ฯ"

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เข้าใจแล้ว!

เอ้อ จริงๆแล้วมันก็อยู่ในที่บันทึกๆมานี่ล่ะ
พอกลับมาอ่านอีกที รู้สึกว่ามันลึกไปอีกขั้น

ว่าคำสอนสุดท้าย
ไม่ว่าจะพิจารณาจากสติปัฏฐาน ไตรลักษณ์ โทษของกาม
ก็เพื่อให้เห็นว่า มันไม่ใช่เรา เท่านี้เอง
จะเรียกว่า ตัดขันธ์ 5 ก็ถูกนะ รูปไม่ใช่เรา เวทนาไม่ใช่เรา
จะรู้จากสติปัฏฐานก็ได้แบบนี้
จะรู้จากไตรลักษณ์ก็ได้แบบนี้

สุดท้ายการตัดอวิชชา ก็รู้ได้ด้วยการ"เห็นตามความเป็นจริง"

.....

คำสอนหลวงปู่ดุลย์ อตุโล

  • ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งใน ขันธ์๕,  แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท, หยุดการปรุงแต่ง
  • จิตนั้นจะยกสภาวะธรรมขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรองให้เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดปัญญาแล้ว ปัญญานั้นก็จะแจ่มแจ้งดีกว่าจิตที่ไม่มีสมาธิ

ปฐมอวิชชาสูตร และอวิชชาปหานสูตร

  • ดูก่อนภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่จักษุโดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น เมื่อภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งรูป ทั้งหลาย ฯลฯ ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัส เป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น ดูก่อนภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น.
  • อนิจฺจโต ชานโต ความว่า อวิชชา เธอย่อมละได้ด้วย สามารถแห่งอนิจจลักขณะ และ อนัตตลักขณะนั่นเอง.

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปัญญา หรือ ทรัพย์ ประเสริฐกว่ากัน


จำได้สมัยเด็ก คิดว่า จะมีทรัพย์หรือมีปัญญา ย่อมไม่ต่างกัน

เพราะ มีทรัพย์ก็ย่อมหาแหล่งศึกษาให้มีปัญญาได้
มีปัญญา ก็ย่อมนำมาใช้แสวงหาทรัพย์ได้


แต่คำตอบ ณ วันนี้ มีปัญญาย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์แน่นอน


ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่า
มีทรัพย์ ใช้แล้วก็หมดไป ถ้ามีปัญญา ก็สามารถหาทรัพย์ให้เพิ่มพูนได้
หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่คนส่วนใหญ่จะพึงตอบ



แต่ ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์ ในมุมมองที่ว่า



ประการหนึ่ง - ปัญญา สามารถทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ได้

แม้บุคคลที่มีทรัพย์ จะทำบุญให้ได้บุญนั้น ก็ต้องมีปัญญา คือ มีความเห็นถูกเสียก่อน

นี้คือบุญในส่วนของทาน

และบุญในระดับที่สูงขึ้นไปนั้น ต้องอาศัยปัญญายิ่งๆขึ้นไปอีก อันได้แก่ ศีล และ ภาวนา



ประการสอง - คนที่มีทรัพย์ แต่ขาดปัญญา ย่อมไม่พอใจในทรัพย์ที่มีอยู่ แต่กลับต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

คนที่มีปัญญา ย่อมไม่เดือดร้อนในข้อนี้ และรู้สึกเพียงพอกับทรัพย์ที่ตนมีอยู่

เรียกได้ว่า คนมีปัญญานั้น มีทรัพย์ได้พอใช้มากกว่าเสียอีก




จึงเห็นได้ว่า ปัญญา เป็นเหตุของความสุขทั้งทางโลกและทางธรรม

ปัญญานั้น ไม่ใช่แค่ ประเสริฐกว่าทรัพย์      แต่ต้องกล่าวว่า


ปัญญาที่เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น ( สัมมาทิฎฐิ ) ประเสริฐกว่าสิ่งทั้งปวง



วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

นอกเรื่อง: พราหมณ์ ฮินดู

ช่วงนี้พอจะได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพราหมณ์-ฮินดูบ้าง จุดประสงค์ก็เพื่ออยากแยกแยะความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู จากศาสนาพุทธให้ออก

ก็พอดีได้อ่านเจอเรื่องเกี่ยวกับพระอินทร์ ว่ามีร่างสีเขียว ทรงช้างเอราวัณเป็นพาหนะ แต่ในเทวโลกไม่มีสัตว์เดรัจฉาน ฉะนั้นช้างนี้เป็นเทพบุตร จะแปลงกายเป็นช้างเมื่อพระอินทร์ต้องการเสด็จ


ก็นึกประหลาดใจอยู่หลายอย่าง


 ...

เรื่องนี้ก็คงเป็น 1 ในหลายๆเรื่อง เหมือนที่สงสัยว่า  84,000 พระธรรมขันธ์นับยังไง
ที่อาจจะมีคนกล่าวว่า รู้แล้วใช่หนทางดับทุกข์หรือ
ควรจะเอาลูกศรที่ถูกยิงมาออก อย่ามัวหาคนที่ยิงศรอยู่ 

แต่บางเรื่องก็เกินกว่าจะทำใจให้ผ่านเลยไปได้ 
และเพื่อทำตามปณิธานของตนเองแล้ว ก็ต้องหาคำตอบ

 ...

  
ในเรื่องรามายณะ (ฮินดู) พระอินทร์มีร่างสีเขียว มีพาหนะ 2 อย่างคือ รถม้า ซึ่งก็คือพระอาทิตย์ และช้างเอราวัณซึ่งพระศิวะเป็นผู้ประธานให้

ช้างเอราวัณ มี 33 เศียร แต่ละเศียรมี 7 งา แต่ละงายาว 4 ล้านวา แต่ละงามีสระบัว 7 สระ แต่ละสระมีดอกบัว 7 ดอก ... (ไล่ไปอย่างละ 7) กลีบ เกสร ปราสาท ชั้น บัลลังก์ เทพธิดา บริวาร นางทาสี  ...โดยปกติศิลปินไทยมักจะทำช้างเอราวัณเป็น 3 เศียร

ในยุคแรกของศาสนาพราหมณ์ พระอินทร์มีร่างสีทอง เป็นเจ้าแห่งสภาพภูมิอากาศ ก่อนจะถูกลดบทบาทลง มีหน้าที่รองจากตรีมูรติ  สมัยต่อมาร่างกายเป็นสีแดง และเป็นสีเขียวในปัจจุบัน

...

เพราะฉะนั้น 


แม้ในศาสนาพุทธ จะมีท้าวสักกะที่เรียกว่าพระอินทร์เช่นกัน แต่ความเชื่อด้านบนนั้น เป็นแต่เพียงความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเท่านั้น ไม่ควรนำมาปะปนกับศาสนาพุทธ



วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558

ธิดา: ตัณหา ราคะ อรตี


อยู่ๆได้นึกไปถึง

เรื่องของธิดาทั้ง 3 ของพญามาร คือ นางตัณหา นางราคะ และนางอรตี ที่มาปรากฏหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้
จากการได้อ่านได้ชม ก็มาในรูปของหญิงงามรูปร่างดี บางแหล่งก็กล่าวไปถึงขั้นว่ามาเต้นรำยั่วยวนบ้าง




ก็นึกแปลกใจ...


จากการสังเกต ความงามและรูปร่างของสตรีย่อมผูกใจชายได้อย่างมาก คงด้วยเหตุนี้กระมัง จึงเปรียบตัณหา ราคะ และอรตีเป็นดังนั้น เพราะไม่มีสิ่งใดจะตัดได้ยากไปกว่านี้



แม้ในพระไตรปิฎก ธิดาของพญามารทั้ง 3 จำแลงกายเป็นหญิงแบบต่างๆ และขอบำเรอพระองค์
พระองค์ทรงปฏิเสธ แล้วธิดาก็ได้ถามปัญหาธรรมเล็กน้อย
(ตรงนี้ ไม่ได้นุ่งน้อยห่มน้อยแล้วเต้นยั่วยวนแต่อย่างใด)


ตัณหา ความอยาก

ราคะ ความใคร่ ความกำหนัด

อรตี ความยินดี ยินร้าย ความไม่พอใจ


 แต่ใครจะตั้งชื่อบุตรสาวอย่างนั้น



และสุดท้ายแล้ว

สิ่งที่เป็นเครื่องขัดขวางในการปฏิบัติธรรม ไม่ได้มาจากบุคคลอื่นเลย

ตัณหา ราคะ อรตี มักจะเกิดขึ้นมาในจิตของตนเองนี่แหละ

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว เรื่องความสวยงามของร่างกายย่อมไม่มีผล
( ความรู้สึกระหว่างเพศย่อมหมดไปตั้งแต่พระอนาคามี )


จึงเชื่อว่า น่าจะเป็นการเปรียบเทียบมากกว่า
และเพื่อเป็นการบอกเล่าว่า หลังจากองค์สมเด็จพระพิชิตมารได้ตรัสรู้แล้ว
ตัณหา ราคะ อรตีนั้น ก็ได้หมดสิ้นแล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว และไม่กำเริบอีกต่อไป





วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

๘๔,๐๐๐

สงสัยมาสักพักหนึ่งแล้วว่า คำว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น นับยังไง

ก็ได้พบเจอวิธีการนับอยู่ กล่าวไว้ว่า


ในพระวินัย มีวัตถุ มาติกา บทภาชนีย์ อันตราบัติ อาบัติ อนาบัติ ติกะ เหล่านี้ ส่วนหนึ่งๆ จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์

พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์
ในพระสูตรที่มีอนุสนธิมาก นับพระธรรมขันธ์ด้วยด้วยอำนาจแห่งอนุสนธิ
ในคาถาพันธ์ทั้งหลาย คำถามปัญหาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์
คำวิสัชนาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์

ในพระอภิธรรม จำแนกติกะทุกะแต่ละติกะทุกะ จำแนกวารจิตแต่ละวารจิต จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์


แต่ก็ยังไม่ค่อยสบายใจ เช่นว่า ถ้าดูจำนวนเล่มพระสูตรในพระไตรปิฎก ก็ออกจะมีมากกว่า


ก็นึกไปถึงคำว่า ๕๐๐ - โจร ๕๐๐ ไม่ได้แปลว่ามีโจร ๕๐๐ คน แต่หมายถึงมีจำนวนมาก
นี้คือสำนวนที่พบได้บ่อยๆ หรือสำนวนของไทยก็เช่น ร้อยแปดพันเก้า 
แบบนี้ก็คงจะแนวเดียวกันกระมัง เปิด google ก็เจอจาก Chinese Buddhist Encyclopedia


๘๔,๐๐๐ = uncountable หมายถึง มากมาย นับไม่ถ้วน นั่นเอง


นอกจากนี้ยังมีกล่าวไว้


"ภิกษุทั้งหลาย หมู่มหาชนในพระนครพันธุมดีราชธานีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้สดับข่าวว่า พระวิปัสสีราชกุมารได้ปลงพระเกศา และพระมัสสุครองผ้ากาสาวพัตร์ เสด็จออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ภิกษุทั้งหลาย มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ ได้ออกบวชเป็นบรรพชิตตามเสด็จ" - คัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค


"ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เราได้เป็นขัตติยราชได้รับมุรธาภิเษก เรานั้นมีพระนคร ๘๔,๐๐๐ พระนคร มีปราสาท ๘๔,๐๐๐ หลัง มีบรรลังก์ ๘๔,๐๐๐ ทำด้วยงา ทำด้วยแก่นจันทร์แดง ทำด้วยทอง มีช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีม้า ๘๔,๐๐๐ ตัว" - คัมภีร์สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค


"ภิกษุทั้งหลาย เขาสิเนรุโดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์" - คัมภีร์อังคุตตรนิกาย



เนื้อหาบางส่วนอ้างอิงจาก
- www.oknation.net/blog/bunruang/2008/12/08/entry-1

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

เลือกใช้ความคิด

ได้ข้อคิดจากหนังสือมาว่า

.............................................................................................................................................................

มีดที่มีประโยชน์ ก็สามารถใช้หั่นผักหั่นปลา 

แต่ถ้าหากใช้ไม่ระวัง ก็จะบาดมือเจ้าของเอาได้



# ความคิดก็เหมือนกัน

ถ้าใช้ให้ดี ก็สามารถนำไปแก้ปัญหาก็ได้ ทำให้เกิดปัญญาก็ได้

แต่ถ้าใช้ไม่ระวัง ใช้ความคิดไปกับการไปเพ่งโทษคนอื่นที่เขาทำให้ไม่พอใจบ้าง แบบนี้ก็เท่ากับสร้างบาดแผลให้กับใจตนเอง

.............................................................................................................................................................

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

นิยตมิจฉาทิฏฐิ


นิยตมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม คือ มีผลห้ามนิพพาน จนกว่าจะละความเห็นผิดเหล่านี้ ได้แก่

1. อเหตุกทิฎฐิ     เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเองเป็นเอง ไม่อาศัยเหตุปัจจัยให้เกิดให้มีขึ้น ไม่เชื่อในเหตุ

2. นัตถิกทิฎฐิ      เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ผลอันเนื่องมาแต่เหตุผลของการทำดีทำชั่ว ไม่มีโลกนี้โลกหน้า สัตว์บุคคลไม่มี เป็นแต่ธาตุประชุมกันตายแล้วสูญไม่เกิดอีก เชื่อว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น

3. อกิริยทิฎฐิ      เห็นว่าการกระทำใดๆ ไม่ชื่อว่าเป็นอันกระทำ ผลบาปบุญไม่มีแก่ผู้ทำกระทำแล้วก็เป็นอันแล้วกันไป ปฏิเสธการกระทำโดยประการทั้งปวง

.....

ช่วงนี้ได้พูดคุยได้ฟังมา จึงเกิดความนึกคิดประการหนึ่ง

ด้วยจุดประสงค์อันใด ผู้นับถือศาสนาจึงเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อ หรือกระทั่งเปลี่ยนแปลงคำสอน เพื่อที่จะได้ตอบคำถามให้ถูกใจผู้อื่น

การนับถือพระพุทธศาสนาจำเป็นต้องอาศัยผู้อื่นรับรองด้วยอย่างนั้นหรือ


คำสอนที่ถูกต้อง ย่อมเป็นจริงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง 

แต่การเปลี่ยนแปลงคำสอนเพื่อให้ตอบคำถามคนหมู่มากได้ แล้วต้องผิดแผกไปจากความจริงจะเกิดประโยชน์อันใด


ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ  อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน  ผลอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้น ทุกคนที่น้อมนำมาปฏิบัติ จะรู้ซึ้งถึงผลแห่งพระธรรมนั้นด้วยตนเอง ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ประจักษ์ในใจของตนเอง


วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา


การเดินเลือกหนังสือในร้านหนังสือธรรมะ ก็มักจะได้หนังสือดีติดไม้ติดมือกลับมาเสมอ
อย่างหนังสือ ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา เป็นบทสนทนาที่มีความรู้ ได้จากการปฏิบัติจริง


ที่เขียนแบบนี้ เพราะมีหลายอย่างตรงใจกับที่เคยคิด เคยสงสัย และประสบพบเจอมา
แต่มิใช่ว่าจะปฏิบัติได้ยอดเยี่ยมอะไร ก็ยังมีโลภ โกรธ หลง เต็มที่อยู่เหมือนกัน


( * ไม่ว่าหนังสือนี้จะมีที่มาอย่างไร แต่หนังสือหรือคำสอนที่ดี ที่ตรงกับคำสอนของพระผู้มีพระภาค ก็ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว)



ขอยกตัวอย่างสิ่งที่ตรงใจ

ถามว่า ถ้าเราจะหมายจะคิดอยู่ในเรื่องความจริงของขันธ์ อย่างนี้จะเป็นปัญหาไหม
ตอบว่า ถ้าคิดเอาหมายเอา ก็เป็นสมถะ ที่เรียกว่า มรณัสสติ เพราะปัญญานั้นไม่ใช่เรื่องหมายหรือเรื่องคิด เป็นเรื่องของความเห็นอารมณ์ปัจจุบันที่ปรากฎเฉพาะหน้าราวกับตาเห็นรูปจึงจะเกิดปัญญา


(สนทนาถึงสักกายทิฐิ)

ตอบว่า ควรจะนึกถึง พระโกณทัญญะในธัมมจักร ท่านได้ความเห็นว่า 
ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมมํ 
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับเป็นธรรมดา 

และพระสารีบุตรพบพระอัสสชิ ได้ฟังอริยสัจย่อว่า 
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิ โรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น

พระมหาสมณะมีปกติกล่าวอย่างนี้ ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรมละสักกายทิฐิได้


ถามว่า ที่ต้องสำรวมวจีกรรม ๓ เพราะเหตุอะไร ทำไมจึงไม่ขาดอย่างมุสาวาท
ตอบว่า เป็นด้วยกามราคะกับปฏิฆะ สังโยชน์ทั้ง ๒ นี้ยังละไม่ได้


ถามว่า รูปราคะ คือ ยินดีในรูปฌาน อรูปราคะ ยินดีในอรูปฌาน ถ้าเช่นนั้นคนที่ไม่ได้บรรลุสมาบัติ ๘ สังโยชน์ทั้ง ๒ ก็ไม่มีโอกาสจะเกิดได้ เมื่อเป็นเช่นนี้สังโยชน์ ๒ ไม่มีหรือ
ตอบว่า มี ไม่เกิดในฌาน ก็ไปเกิดในเรื่องอื่น 
ความยินดีในรูปขันธ์ หรือความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นชื่อว่า รูปราคะ
ความยินดีในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือยินดีในสมถวิปัสสนา หรือยินดีในส่วนมรรคผล ที่ได้บรรลุเสขคุณแล้ว เหล่านี้ก็เป็นอรูปราคะได้


ถามว่า ถ้าเราไม่ได้บรรลุฌานชั้นสูงๆ จะเจริญปัญญา เพื่อให้ถึงซึ่งมรรคและผลจะได้ไหม
ตอบว่า ได้ เพราะวิธีเจริญปัญญาก็ต้องอาศัยสมาธิจริงอยู่ แต่ไม่ต้องถึงกับฌาน อาศัยสงบจิตที่พ้นนิวรณ์ ก็พอเป็นบาทของวิปัสสนาได้


๑๑๑๑๑

ท้ายนี้อ่านเจอและได้ข้อคิดจาก พระไพศาล วิสาโล ความว่า

     เมื่อมือถูกไฟลวก มือจะชักออก นี่คือความฉลาดของกาย แต่เมื่อโกรธ ใจจะกอดความโกรธเอาไว้ ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ จะเห็นว่าใจโง่กว่ากาย ชอบหาทุกข์ใส่ตัว

คำพูดนี้เห็นจะจริง ร่างกายยังรู้จักทำเพื่อความอยู่เป็นสุข แต่พอใจเป็นทุกข์ ทำไมจึงไม่ทำเพื่อความอยู่เป็นสุขบ้าง จะเก็บความทุกข์ไว้ทำไม


วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ยันต์

จริงๆได้เคยหาอ่านศึกษาเรื่องยันต์มาบ้าง เห็นว่ายันต์และอักษรขอมนั้นสวยดี






อิ สวา สุ
 นะ มะ อะ อุ
นะ โม พุ ทธา ยะ
นะ มะ พะ ทะ
จะ ภะ กะ สะ


อิ สวา สุ คือ หัวใจพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

นะ มะ อะ อุ เป็นการหนุนธาตุด้วยแก้ว ๔ ดวง คือ แก้วมณีโชติ แก้วไพฑูรย์ แก้ววิเชียร แก้วปัทราช ตามลำดับ

นะ โม พุ ทธา ยะ โดยทั่วไปนั้น หมายถึง พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ พระกุกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป พระสมณโคดม พระศรีอริยเมตตรัย
แต่สำหรับยันต์นี้ เป็นการตั้งธาตุ จึงหมายถึง ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม และอากาศธาตุ

นะ มะ พะ ทะ หมายถึง ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ตามลำดับ
หมายเหตุ ตรงนี้จะพ้องกับ นะมะ พะธะ ซึ่ง นะมะ = นะโม พะธะ = พุทโธ/พระพุทธเจ้า หมายถึง การนอบน้อมสักการะต่อพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์

จะ ภะ กะ สะ หมายถึง ธาตุพระกรณี คือ น้ำ ดิน ไฟ ลม ตามลำดับ


เมื่อรวมพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ธาตุทั้ง ๔ และดวงแก้วทั้ง ๔ จึงจะบริบูรณ์ ทำให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์



รูปจาก www.ittiyano.com
เนื้อหาส่วนหนึ่งจาก powerprotectionss.blogspot.com

นวังคสัตถุศาสน์



เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่อธิบายในพระไตรปิฎก...


...ครั้งนั้นพระสารีบุตรได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคและกราบทูลถามว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน และได้ถามต่อว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้พระศาสนาไม่ดำรงอยู่นาน


พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน
เพราะทรงท้อพระทัย เพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก

พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน
มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก

.........


นวังคสัตถุศาสน์ คือ พุทธพจน์ 9 ประการ คือ

1. สุตตะ คือ พระสูตรต่างๆ และวินัย ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิเทส ขันธกะ ปริวาร และสูตรต่าง ๆ

2. เคยยะ หมายถึง พระสูตรที่มีคาถาผสม

3. เวยยากรณะ คือ คำสอนที่มีลักษณะเป็นคำตอบ หมายเอาคำสอนในพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด

4. คาถา คือ ข้อความร้อยกรองที่เป็นคาถาล้วนๆ เช่น บทประพันธ์ในเถรคาถา เถรีคาถา ธรรมบท และคาถาที่ไม่เรียกว่า สูตรในสุตตนิบาต

5. อุทาน คือ คำพูดที่เปล่งออกมาจากความประทับใจในบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือมาจากได้เห็นสัจธรรมบางอย่างอันเป็นภาวะที่น่าอัศจรรย์

6. อิติวุตตกะ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระสาวกหรือบุคคลบางคนได้ยกขึ้นมาอ้าง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นหรือเป็นหลักฐาน

7. ชาดก เป็นเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า

8. อัพภูตธรรม คือ คำสอนหรือเรื่องน่าอัศจรรย์ใจ

9. เวทัลละ คือ ข้อความที่ถามตอบกันไปมา คำสอนประเภทที่แจกแจงความหมายอย่างละเอียด


เนื้อหาอ้างอิงจาก
http://www.vinaya.mbu.ac.th/sec2book1/page004.htm
https://www.gotoknow.org/posts/215842

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระวินัย

ได้เกริ่นเรื่องพระวินัยไว้ ขอเพิ่มเติมสักหน่อย
.......................................................................


พระวินัยปิฎกจัดแบ่งเป็น 5 คัมภีร์ เรียกชื่อย่อว่า 'อา ปา ม จุ ป' บ้าง 'ปา ปา ม จุ ป' บ้าง คือ

อา = อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก
ปา = ปาจิตตีย์
ม = มหาวรรค
จุ = จุลววรค
ป = ปริวาร


หรือแบ่งเป็น 5 ส่วน ดังนี้

1. ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทหรือศีลของภิกษุ 227 ข้อ
2. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทหรือศีลของภิกษุณี 311 ข้อ
3. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ อันเป็นขนมธรรมเนียมระเบียบวิธีของภิกษุ มี 10 ขันธกะ
4. จุลวรรค ว่าด้วยวัตร ธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของพระสงฆ์
5. ปริวาร ว่าด้วยคู่มือวินัย เป็นคำถามตอบวินัยโดยย่อๆ ทุกวิภังค์ และขันธกะ
 

สิกขาบทในพระวินัยนั้น แบ่งโทษออกเป็น 3 ชั้น คือ

1. ปาราชิก ยังผู้ต้องให้ขาดจากความเป็นภิกษุ ต้องสึกออกไปจะบวชใหม่ไม่ได้ตลอดชีวิต

2. สังฆาทิเสส ยังผู้ต้องให้อยู่กรรม ประพฤติวัตร เป็นการประจานตนตามวันที่กำหนด หลังจากได้รับอัพภานกรรมจากสงฆ์แล้ว ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามเดิม

3. ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาษิต เป็นอาบัติที่อาจพ้นได้ด้วยการแสดง คือการสารภาพความผิดของตนแก่ภิกษุรูปอื่น


จากที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า พระวินัยที่ได้บัญญัตินั้นมีความละเอียดลึกซึ้ง
ยกตัวอย่างปาราชิกสิกขาบทที่ 1 ว่าด้วยการเสพเมถุน
ที่หน้าเพจ th.wikisource.org/wiki/พระวินัยปิฎก_เล่ม_๘_ปริวาร ได้เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า

มีเป้าหมายให้พระภิกษุประพฤติพรมจรรย์ เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟู ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนต่างๆตามภูมิชั้นของจิต อย่างชั้น กามาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามคุณ คือจิตของคนสามัญทั่วไป

พระพุทธศาสนา สอนให้คนตัดโลกียวิสัย เพื่อมุ่งสู่โลกุตตรภูมิ และประการแรกที่ต้องทำ คือ ตัดกามารมณ์ ถ้าตัดได้จะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมอย่างรวดเร็ว

ก็เมื่อจุดหมายคือพระนิพพาน การหลุดพ้นจากสังสารวัฏแล้ว แต่เพศสัมพันธ์นั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้สังสารวัฏเกิดต่อไป

 .......................................................................

เนื้อหาบางส่วนอ้างอิงจาก
https://www.l3nr.org/posts/226184
หนังสือพระวินัยปิฎกย่อ

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระไพรีพินาศ


จากวันนี้ที่ได้ไปกราบสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และได้ทำบุญ ก็ได้รับเหรียญพระไพรีพินาศมา



ด้านหลังของเหรียญ เป็นอักษรขอม 12 ตัว เขียนว่า

อิ  สวา  สุ
อ    สํ    วิ
สุ   โล   ปุ
ส    พุ    ภ

มีความหมายดังนี้

อิ สวา สุ หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ใช้ยันต์ตัวนี้ในการบริกรรมควงกัน 3 บท คือ อิ สวา สุ สุ สวา อิ สวา สุ อิ เป็นพระคาถาคุ้มกันภัย โดย

อิ มาจาก บทพระพุทธคุณ 9 (หรือ 56) คือ อิติปิโส...
สวา มาจาก บทพระธรรมคุณ 6 (หรือ 38) คือ สะวากขาโต...
สุ มาจาก บทพระสังฆคุณ 9 (หรือ 14) คือ สุปฏิปันโน...

อ สํ วิ สุ โล ปุ ส พุ ภ หมายถึง พุทธคุณ 9 หรือ นวหรคุณ

อ มาจาก อรหัง
สํ มาจาก สัมมา สัมพุทโธ
วิ มาจาก วิชชา จรณะสัมปันโน
สุ มาจาก สุคโต
โล มาจาก โลกวิทู
ปุ มาจาก อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ
ส มาจาก สัตถา เทวมนุสสานัง
พุ มาจาก พุทโธ
ภ มาจาก ภควา


รูปและเนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างอิงจาก
www.web-pra.com
www.komchadleuk.com

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สิ่งที่หมุนไปตามกระแสโลก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ
ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ
ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทา
ย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์

เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

อริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่า
ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์  เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ ท่านละความยินดียินร้ายได้แล้วเด็ดขาดอย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์

คัดย่อจาก พระไตรปิฎก ฉบับผู้ใฝ่ธรรม

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ



วันนี้เดินดูหนังสือเล่มหนึ่งเนื้อหาน่าสนใจ สอนเกี่ยวกับธรรมโดยตรง ถูกกับจริตดี
จริงๆแล้ว คำสอนไม่ต้องอธิบายมากเลย 
ไม่ว่าจะเริ่มจากมุมไหน สุดท้ายคำสอนจะมุ่งมาที่เดียวกัน


ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ     สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ  

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา


อย่างคำสอนแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนแก่ปัญจวัคคีย์ ถึงทางสายกลาง และอริยสัจ 4
และคำตอบที่พระอัสสชิบอกแก่พระสารีบุตร ต่างก็เน้น เหตุแห่งธรรม


ซึ่งเป็นไปเพื่อ สังขารุเปกขาญาณ
คือญาณอันเป็นกลางต่อสังขาร เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริงด้วยปัญญา ไม่ยินดียินร้าย ไม่ติดในในสังขารทั้งปวง และน้อมมุ่งสู่ความหลุดพ้นคือพระนิพพานเป็นที่สุด
จนได้สัจจานุโลมิกญาณ ญาณอันหยั่งรู้ตามอริยสัจ อันเป็นขั้นสุดท้ายในวิปัสสนาญาณ

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อย่าเป็นทาสของอดีต


เมื่อวานเดินดูหนังสือ สะดุดกับคำหนึ่งในหนังสือของอ.วศินว่า

 "อย่าเป็นทาสของอดีต"


ช่วยหยุดความคิดมากที่มีอยู่ได้ดีทีเดียว



ในหนังสือเส้นผมบังความสุขของพระไพศาลเขียนไว้


ให้มีสติ ไม่หมกมุ่นครุ่นคิดกับสิ่งที่ผ่านไป ไม่ปล่อยให้อารมณ์ต่างๆมาครองใจ
ไม่ให้อารมณ์อกุศลเข้ามา และไม่ให้ฟุ้งซ่าน เพราะฟุ้งซ่านเมื่อไหร่ ใจก็ทุกข์ทันที


นึกไปถึงโพสต์ก่อนหน้าว่า จิตไม่มีความเศร้าหมอง เพราะยอมรับทุกอย่างว่าเป็นของธรรมดา 




เมื่อเราลองออกมายืนนอกวง แล้วลองมองกลับเข้าไปในความคิดของปุถุชน(คนอื่น)
ช่างเหมือนน้ำขึ้นลง หาความสงบนิ่งไม่ได้
ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ถ้าเราออกมาได้แล้ว ก็ไม่อยากกลับเข้าเป็นแบบนั้นอีกเลย



ช่วงไม่กี่วันนี้ สังเกตดูตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น พบว่าตัวเองไม่ได้รู้สึกกระเทือนใจอย่างที่อาจจะเป็น
นี้คงเป็นผลมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าและหลวงพ่อนั่นเอง


นับว่าเป็นวิชาที่วิเศษที่สุด

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ


ไม่น่าเชื่อว่าเราจะเจอเรื่องดราม่าๆ ออกแนวชีวิตจริงยิ่งกว่านิยายได้

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ปกติสุขดี อยู่ในศีลธรรม หรือคนอื่นไม่เห็นอย่างนั้นก็ไม่ทราบได้?
เกิดเรื่องขึ้นแล้ว กลับรู้สึกว่า อย่าดึงฉันลงไปเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้

ชวนให้นึกถึงคำพูดของท่านยสกุลบุตรก่อนที่จะออกบวชว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"

.....

ท่านยสกุลบุตรนั้นเป็นลูกเศรษฐี มีปราสาท 3 หลัง พร้อมด้วยบริวาร และกามคุณ 5

แต่มองเห็นความเบื่อหน่าย วันหนึ่งได้พบพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง อนุปุพพิกถา เพื่อยกจิตให้ปลอดจากนิวรณ์ และอริยสัจ 4 ตามลำดับ


อนุปุพพิกถา 5 คือ

1. ทานกถา ว่าด้วยการให้ทาน

2. สีลกถา ว่าด้วยการรักษาศีล

3. สัคคกถา ว่าด้วยความสุขในสวรรค์

4. กามาทีนวกถา ว่าด้วยโทษและความต่ำทรามของกาม

5. เนกขัมมานิสังสกถา ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการหลีกออกจากกาม


อนุปุพพิกถานี้ ตามประวัติในพระพุทธศาสนาปรากฏว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่มนุษย์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ไม่ทรงแสดงแก่เทพยดา


อรรถกถาขณสูตรที่ 2 
 

ใครๆ ไม่อาจจะอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ในนรกได้
เพราะได้รับแต่ทุกข์โดยส่วนเดียว
และไม่อาจอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ในเทวโลกได้
เพราะเกิดความประมาทด้วยสามารถความยินดีในการเล่นโดยส่วนเดียว
เพราะได้รับความสุขโดยส่วนเดียว
ส่วนมนุษยโลก มีความสุขและความทุกข์ระคนกัน . . .


             การเจริญมรรคในที่นี้  นี้ก็เป็นกรรมภูมิ
          ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวชเป็นอันมาก
          ในที่นี้ก็เป็นฐานะอยู่   ท่านเกิดความสังเวชแล้ว
          ก็จงประกอบความเพียรโดยแยบคาย
          ในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวชเถิด.

.....

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=576&Z=666
http://www.phutthathum.com/
http://palungjit.org/tripitaka/default.php?cat=2800220


วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อารมณ์

แต่ก่อนเคยอ่าน อย่างอารมณ์พระโสดาบัน

ละสังโยชน์ 3
1. สักกายทิฏฐิ
2. วิจิกิจฉา
3. สีลัพพตปรามาส
และรักพระนิพพานเป็นอารมณ์


ก็คิดว่าเข้าใจความหมายนะ

จนช่วงนี้

วันนั้นเหมือนจะหลับๆเคลิ้มๆไป จำได้ว่า คิดขึ้นมาว่า 'แล้วถ้าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราล่ะ' คิดได้เท่านั้น มันก็หลุดเลย (ปล่อยเลย ที่เคยคิดอะไรๆ มันก็ไม่สนใจแล้วว่าจะเป็นไง)

อย่างเมื่อคืนที่ตระหนักถึงความยาวนานของชีวิตเป็นอสงไขยๆ มันก็รู้สึกไม่ใยดีกับสิ่งที่เหลือในชีวิตนี้แล้ว จิตปรารถนาพระนิพพานมาก จิตรักพระพุทธเจ้าแนบแน่น
จนถึงตอนเช้า เห็นผู้คน ก็มีอารมณ์เหมือนจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมพระอนาคามีถึงไม่เกิดความรักระหว่างเพศ มันมองแล้วก็ว่างเปล่า ตัวเขาก็ว่างเปล่า ตัวเราก็ว่างเปล่า

ตอนนี้รู้ได้ว่า การเข้าใจ ที่เกิดจากการอ่านแล้วจำได้ มันไม่เหมือนกับการเข้าใจที่อารมณ์นึกอย่างนั้นจริงๆ


อ.กล่าวไว้ในหนังสือว่า

มนุษย์ที่อยู่ด้วยความหลับคือกิเลส เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ก็ตื่นขึ้นชั่วระยะหนึ่ง แล้วพากันหลับต่อไป


น่าคิดว่า พบพระพุทธศาสนาครั้งหนึ่ง ได้ศึกษาธรรมะครั้งหนึ่ง
แล้วถ้าหลังจากชาตินี้ ไม่ได้พบพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร
เพียงสาวกภูมิ ใช้เวลานานนับอสงไขย หากไม่สามารถไปได้ในชาตินี้ แล้วต้องรอครั้งใหม่ 
.....แค่คิดก็รู้สึกว่ายาวนานเกินไปแล้ว


วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สังยุตตนิกาย สัมพหุลสูตร (มารสังยุต)


 


ครั้งนั้น มารผู้มีบาปแปลงกายเป็นพราหมณ์แก่ หลังโกง สวมชฎาใหญ่ นุ่งหนังเสือ หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้าไปหาหมู่ภิกษุ แล้วกล่าวว่า 

 บรรพชิตผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านเป็นนักบวชที่ยังหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท อยู่ในวัยแรกรุ่นอันเจริญ แต่ไม่เพลิดเพลินในกามคุณทั้งหลาย ขอพวกท่านจงบริโภคกามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ พวกท่านอย่าละกามที่เห็นเฉพาะหน้า วิ่งไปหากามทิพย์อันมีอยู่ตามกาลเลย

ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า

 “พราหมณ์ พวกข้าพเจ้ามิได้ละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามทิพย์อันมีอยู่ตามกาลเลย แต่พวกข้าพเจ้าละกามทิพย์อันมีอยู่ตามกาลแล้ววิ่งไปหาธรรมที่เห็นเฉพาะหน้า เพราะว่ากามทั้งหลายอันมีอยู่ตามกาล พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษยิ่งนัก ส่วนธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาลควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
 

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก