วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

ธรรมะจิปาถะ: พุทธานุสติ สวดมนต์

สังขารทั้งสิ้นย่อมแตกดับไป ไม่มีสังขารใดเลยไม่ดับ
สังขารเป็นอนิจจัง ไม่ใช่ของเที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ความสุข เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน
ไม่เฉพาะแต่ปัจจุบันเท่านั้น แม้ในอดีตก็เคยแตกสลายมาแล้ว  และในอนาคตก็ต้องแตกสลายเหมือนกัน

-----------------------------------
พุทธานุสสติ

 พุทธานุสสติเป็นเหตุให้เข้าถึงพระนิพพานได้ง่ายที่สุด

ถ้าหากว่านึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย นึกถึงพระที่คอด้วย แล้วพร้อมกันนั้นเราคิดว่า ชีวิตนี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ขึ้นชื่อว่าความทุกข์มาจากไหน มาจากการมีร่างกาย ถ้าเราไม่มีร่างกายอย่างนี้ เราก็ไม่มีทุกข์อย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าร่างกายเลวๆ อย่างนี้จะไม่ขอมีอีกต่อไป เมื่อตายจากนี้แล้วขอไปนิพพาน ถ้าคิดอย่างนี้ทุกวันมันมีการสะสมตัว ถ้าตายวันไหนวันนั้นจะเป็นพระอรหันต์ไปนิพพานทันที

คำว่า ฌาน ก็คือ อารมณ์ชิน ถ้าหากว่าจิตว่างจากอารมณ์อื่นจิตจะนึกถึง พุทโธ ขึ้นมาทันที โดยที่เราไม่ต้องบังคับอย่างนี้ชื่อว่าเป็น ผู้ทรงฌาน


-----------------------------------
สวดมนต์

เดิมทีคำสอนของพระพุทธเจ้ายังไม่ได้จารึกลงเป็นตัวอักษร
พระพุทธพจน์ถูกถ่ายทอดต่อกันด้วยการท่องจำสืบต่อกันมา
การท่องพระพุทธพจน์นั่นเองที่เป็นการสวดมนต์ในภายหลัง

ถ้าจะถามว่าการสวดพระปริตรจะให้สำเร็จผลตามประสงค์ได้หรือไม่ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามเรื่องนี้กับพระนาคเสนเหมือนกัน พระนาคเสนก็ถวายพระพรตอบว่า
จะให้สำเร็จผล ต้องมีเงื่อนไข ๓ อย่างคือ
๑. ต้องมีความเชื่อ
๒. ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกางกั้น เรียกว่า กรรมวรณ์
๓. ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกางกั้น เรียกว่า กิเลสาวรณ์

ตัวอย่างที่มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎก
พบเรื่องพระมหากัสสปและพระโมคคัลานะป่วยหนัก
พระพุทธเจ้าทรงทราบ เสด็จไปทรงเยี่ยมและทรงแสดงโพชฌงค์ ๗
เมื่อทรงแสดงธรรมจบลง พระมหากัสสปและพระโมคคัลานะหายป่วย
ที่พระมหากัสสปและพระโมคคัลลานะหายป่วยหลังจากฟังโพชฌงค์นั้น
เพราะท่านมีโพชฌงค์ ๗ อยู่ในตัวท่านบริบูรณ์ดีแล้วนั่นเอง

คุณค่าของการสวดมนต์ อยู่ที่การสำรวมกาย วาจา ซึ่งจัดเป็นศีล และจิตใจสงบผ่องแผ้วอยู่กับบทสวดเป็นสมาธิ เข้าใจความหมายของบทสวด เพิ่มพูนความคิดอ่านให้แตกฉานลึกซึ้ง จัดเข้าในปัญญา รวมความว่า เราสวดมนต์ให้ได้ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนา

 
----------------------------------- 
 
อย่างเช่นบทสวดทำวัตรเย็น มีบทสวดหนึ่งที่สะดุดใจ หลังจากระลึกพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณแล้ว ก็คือ บทสำหรับพิจารณาปัจจัยสี่ (อะตีตะปัจจะเวกขะณะวิธี) ย่อว่า
  • เรานุ่งห่มจีวรใด โดยไม่ทันได้พิจารณา:
  • เรานุ่งห่มเพื่อป้องกันความหนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันเหลือบ ยุง ลม แดด เพื่อปกปิดอวัยวะ
  • เราบริโภคอาหารใด โดยไม่ทันได้พิจารณา
  • เราไม่ได้บริโภคอาหารเพื่อความเพลิดเพลิน เราบริโภคอาหารเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ เพื่อจะได้มีกำลังในการประพฤติพรหมจรรย์ เราย่อมระงับทุกขเวทนาเก่าคือความหิว
  • เราใช้สอยเสนาสนะใด โดยไม่ทันได้พิจารณา
  • เราอาศัยเสนาสนะเพื่อป้องกันความหนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันเหลือบ ยุง ลม แดด เพื่อบรรเทาอันตรายจากดินฟ้าอากาศ
  • เราใช้ยารักษาโรคใด โดยไม่ทันพิจารณา
  • เราใช้ยาเพื่อระงับทุกขเวทนา เพียงเพื่อไม่ให้โรคเบียดเบียน

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า การสวดมนต์ นอกจากจะได้อนุสสติกรรมฐานแล้ว ยังได้เตือนสติตนเอง เหมือนได้อ่านคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก