วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

ไตรลักษณ์

 " สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง
สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์
ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา "

สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์
  1. สันตติ คือ ความสืบต่อ หรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง บังอนิจจลักษณะ
  2. อิริยาบท คือ การยักย้ายเคลื่อนไหว บังทุกขลักษณะ
  3. ฆนะ คือ ความเป็นแท่งเป็นก้อนเป็นชิ้น บังอนัตตลักษณะ


"ปุถุชนผู้มิได้ฝึกอบรมในอริยธรรม ย่อมมองเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตน (อัตตา)
มองเห็นตนมีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ
อยู่ด้วยความรู้สึกว่า รูปเป็นเรา รูปของเรา
เวทนาเป็นเรา เวทนาของเรา
สัญญาเป็นเรา สัญญาของเรา
สังขารเป็นเรา สังขารของเรา
วิญญาณเป็นเรา วิญญาณของเรา"
    - หนังสือไตรลักษณ์

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

ธรรมะจิปาถะ: พุทธานุสติ สวดมนต์

สังขารทั้งสิ้นย่อมแตกดับไป ไม่มีสังขารใดเลยไม่ดับ
สังขารเป็นอนิจจัง ไม่ใช่ของเที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ความสุข เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน
ไม่เฉพาะแต่ปัจจุบันเท่านั้น แม้ในอดีตก็เคยแตกสลายมาแล้ว  และในอนาคตก็ต้องแตกสลายเหมือนกัน

-----------------------------------
พุทธานุสสติ

 พุทธานุสสติเป็นเหตุให้เข้าถึงพระนิพพานได้ง่ายที่สุด

ถ้าหากว่านึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย นึกถึงพระที่คอด้วย แล้วพร้อมกันนั้นเราคิดว่า ชีวิตนี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ขึ้นชื่อว่าความทุกข์มาจากไหน มาจากการมีร่างกาย ถ้าเราไม่มีร่างกายอย่างนี้ เราก็ไม่มีทุกข์อย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าร่างกายเลวๆ อย่างนี้จะไม่ขอมีอีกต่อไป เมื่อตายจากนี้แล้วขอไปนิพพาน ถ้าคิดอย่างนี้ทุกวันมันมีการสะสมตัว ถ้าตายวันไหนวันนั้นจะเป็นพระอรหันต์ไปนิพพานทันที

คำว่า ฌาน ก็คือ อารมณ์ชิน ถ้าหากว่าจิตว่างจากอารมณ์อื่นจิตจะนึกถึง พุทโธ ขึ้นมาทันที โดยที่เราไม่ต้องบังคับอย่างนี้ชื่อว่าเป็น ผู้ทรงฌาน


-----------------------------------
สวดมนต์

เดิมทีคำสอนของพระพุทธเจ้ายังไม่ได้จารึกลงเป็นตัวอักษร
พระพุทธพจน์ถูกถ่ายทอดต่อกันด้วยการท่องจำสืบต่อกันมา
การท่องพระพุทธพจน์นั่นเองที่เป็นการสวดมนต์ในภายหลัง

ถ้าจะถามว่าการสวดพระปริตรจะให้สำเร็จผลตามประสงค์ได้หรือไม่ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามเรื่องนี้กับพระนาคเสนเหมือนกัน พระนาคเสนก็ถวายพระพรตอบว่า
จะให้สำเร็จผล ต้องมีเงื่อนไข ๓ อย่างคือ
๑. ต้องมีความเชื่อ
๒. ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกางกั้น เรียกว่า กรรมวรณ์
๓. ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกางกั้น เรียกว่า กิเลสาวรณ์

ตัวอย่างที่มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎก
พบเรื่องพระมหากัสสปและพระโมคคัลานะป่วยหนัก
พระพุทธเจ้าทรงทราบ เสด็จไปทรงเยี่ยมและทรงแสดงโพชฌงค์ ๗
เมื่อทรงแสดงธรรมจบลง พระมหากัสสปและพระโมคคัลานะหายป่วย
ที่พระมหากัสสปและพระโมคคัลลานะหายป่วยหลังจากฟังโพชฌงค์นั้น
เพราะท่านมีโพชฌงค์ ๗ อยู่ในตัวท่านบริบูรณ์ดีแล้วนั่นเอง

คุณค่าของการสวดมนต์ อยู่ที่การสำรวมกาย วาจา ซึ่งจัดเป็นศีล และจิตใจสงบผ่องแผ้วอยู่กับบทสวดเป็นสมาธิ เข้าใจความหมายของบทสวด เพิ่มพูนความคิดอ่านให้แตกฉานลึกซึ้ง จัดเข้าในปัญญา รวมความว่า เราสวดมนต์ให้ได้ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนา

 
----------------------------------- 
 
อย่างเช่นบทสวดทำวัตรเย็น มีบทสวดหนึ่งที่สะดุดใจ หลังจากระลึกพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณแล้ว ก็คือ บทสำหรับพิจารณาปัจจัยสี่ (อะตีตะปัจจะเวกขะณะวิธี) ย่อว่า
  • เรานุ่งห่มจีวรใด โดยไม่ทันได้พิจารณา:
  • เรานุ่งห่มเพื่อป้องกันความหนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันเหลือบ ยุง ลม แดด เพื่อปกปิดอวัยวะ
  • เราบริโภคอาหารใด โดยไม่ทันได้พิจารณา
  • เราไม่ได้บริโภคอาหารเพื่อความเพลิดเพลิน เราบริโภคอาหารเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ เพื่อจะได้มีกำลังในการประพฤติพรหมจรรย์ เราย่อมระงับทุกขเวทนาเก่าคือความหิว
  • เราใช้สอยเสนาสนะใด โดยไม่ทันได้พิจารณา
  • เราอาศัยเสนาสนะเพื่อป้องกันความหนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันเหลือบ ยุง ลม แดด เพื่อบรรเทาอันตรายจากดินฟ้าอากาศ
  • เราใช้ยารักษาโรคใด โดยไม่ทันพิจารณา
  • เราใช้ยาเพื่อระงับทุกขเวทนา เพียงเพื่อไม่ให้โรคเบียดเบียน

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า การสวดมนต์ นอกจากจะได้อนุสสติกรรมฐานแล้ว ยังได้เตือนสติตนเอง เหมือนได้อ่านคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย
 

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

วิสุทธิ 7 และ ญาณ 16

1. ศีลวิสุทธิ  ต้องเป็นศีลที่ทำเพื่อละกิเลส ปรารถนาพระนิพพาน จึงจัดเป็นศีลที่บริสุทธิ์

2. จิตตวิสุทธิ  ก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นสมาธิเพื่อเป็นปัจจัยแก่การพ้นทุกข์ จึงจัดเป็นสมาธิบริสุทธิ์
 
3. ทิฏฐิวิสุทธิ  ปัญญาที่เห็นถูกโดยปราศจากกิเลส เห็น นามรูป ว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
 
     1.) นามรูปปริจเฉทญาณ  เห็นรูปธาตุและนามธาตุเป็นคนละธาตุกันอย่างชัดเจน
 
4. กังขาวิตรณวิสุทธิ  หมดความสงสัยในการเวียนว่ายตายเกิด
 
     2.) นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ  เห็นเหตุปัจจัยของนามรูป ตามปฏิจจสมุปบาท คือการเวียนว่ายตายเกิด:
  • อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
  • สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
  • วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
  • นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ 6
  • อายตนะ 6 เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ
  • ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
  • เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
  • ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
  • อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ
  • ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
  • ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส 
เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดรูป คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และอาหาร
เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดนาม คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ผัสสะ และวิญญาณ

5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ  ปัญญาที่รู้โดยถูกต้องแน่นอนแล้วว่า วิธีการใดใช่ทาง หรือวิธีการใดไม่ใช่ทาง ที่จะดำเนินไปสู่การดับภพชาติของตน

     3.) สัมมสนญาณ เห็นสังขตธรรมลักษณะ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป (ไตรลักษณ์) ของนามรูป
     4.) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ที่ยังเป็นวิปัสสนาญาณอย่างอ่อน (ตรุณอุทยัพพยญาณ) คือ ปัญญาอันเป็นปฏิปทาที่ถูกต้อง แต่อาจจะยังไม่สมบูรณ์พอที่จะรู้เท่าทันในอารมณ์ของกิเลส คือ วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง  มีโอภาสเป็นต้น

6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ  ปัญญาที่เข้าถึงความรู้สึกในทางที่ถูก ตรงสู่พระนิพพานโดยถูกต้องแล้ว

     4.) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ที่เจริญขึ้น (พลวอุทยัพพยญาณ) เห็นความเกิดดับของนามรูป
     5.) ภังคานุปัสสนาญาณ เห็นความดับของนามรูป
     6.) ภยตูปัฏฐานญาณ เห็นนามรูปปรากฏเป็นของน่ากลัว
     7.) อาทีนวานุปัสสนาญาณ เห็นนามรูปเป็นโทษ
     8.) นิพพิทานุปัสสนาญาณ เห็นความเบื่อหน่ายในการครองนามรูป
     9.) มุจจิตุกัมยตาญาณ อยากพ้นไปเสียจากการครองนามรูป
     10.) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางเพื่อให้พ้นจากการครองนามรูป
     11.) สังขารุเบกขาญาณ พิจารณานามรูปด้วยความวางเฉย
     12.) สัจจานุโลมิกญาณ รู้อารมณ์ของนามรูปเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะบรรลุอริยมรรค

7. ญาณทัสสนวิสุทธิ  ปัญญาในมัคคญาณที่เห็นแจ้งพระนิพพนาน

     13.)โคตรภูญาณ หัวต่อแห่งการข้ามจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล
     14.) มัคคญาณ ญาณที่เข้าสู่ความเป็นพระอริยบุคคลแต่ละขั้น ได้แก่ โสดาปฏิมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหันตมรรค
     15.) ผลญาณ ญาณที่เข้าสู่ความเป็นพระอริยบุคคลในขั้นนั้นๆสมบูรณ์ ได้แก่ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหันตผล
     16.) ปัจจเวกขณญาณ พิจารณาทบทวนมรรคผล กิเลสที่ละได้แล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพระนิพพาน

ตั้งแต่วิสุทธิที่ ๑ ถึงวิสุทธิที่  ๖ นั้น รู้อริยสัจจ์เพียง ๒ สัจจะ คือ รู้ทุกข์สัจจ์กับสมุทัยสัจจ์  ส่วนญาณทัสสนวิสุทธิเป็นโลกุตตรวิสุทธิ เพราะรู้แจ้งอริยสัจจ์ครบทั้ง ๔

- ตัดจากเว็บอภิธรรมออนไลน์
+ หนังสือวิปัสสนาภาวนา
 

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

เปล่า ไม่มีใครเกิดไม่มีใครตาย

การเจริญวิปัสสนาโดยยึดเอาหลักปรมัตถเป็นอารมณ์ คือ นำขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 6 หรือรูปนาม มาพิจารณา

บทสวดมนต์ ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัสวิหาร มีว่า

"เปล่า ไม่มีใครเกิดไม่มีใครตาย, รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, ขันธ์ 5 มันเกิดขึ้น ขันธ์ 5 มันทำลายไปต่างหาก, มันไม่เที่ยง, มันเป็นทุกข์, ไม่ใช่ของเรา, ไม่ใช่เรา, ไม่ใช่ตัวใช่ตน, ขันธ์ 5 ต่างหาก, ช่างมันเถิด"

"เปล่า ไม่มีใครเกิดไม่มีใครตาย, จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ, อายตนะ 6 มันเกิดขึ้น อายตนะ 6 มันดับไปต่างหาก, มันไม่เที่ยง, มันเป็นทุกข์, ไม่ใช่ของเรา, ไม่ใช่เรา, ไม่ใช่ตัวใช่ตน, อายตนะ 6 ต่างหาก, ช่างมันเถิด"

"เปล่า ไม่มีใครเกิดไม่มีใครตาย, ดิน น้ำ ไฟ ล อากาศ วิญญาณ, ธาตุ 6 มันเกิดขึ้น ธาตุ 6 มันแตกไปต่างหาก, มันไม่เที่ยง, มันเป็นทุกข์, ไม่ใช่ของเรา, ไม่ใช่เรา, ไม่ใช่ตัวใช่ตน, ธาตุ 6 ต่างหาก, ช่างมันเถิด"

"เปล่า ไม่มีใครเกิดไม่มีใครตาย, นามรูปมันเกิดขึ้น นามรูปมันแตกไปต่างหาก, มันไม่เที่ยง, มันเป็นทุกข์, ไม่ใช่ของเรา, ไม่ใช่เรา, ไม่ใช่ตัวใช่ตน, นามรูปต่างหาก, ช่างมันเถิด"

........................................

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะจึงต้องทำสติให้มีความรู้ดั่งนี้ และไม่เอาตัวเราออกรับ แต่ว่า รู้ ได้ยิน เห็น แต่ไม่เอาตัวเราออกรับ เมื่อไม่เอาตัวเราออกรับ การกระทบก็ไม่มี การกระทบที่เรียกว่าปฏิฆะนั้นก็ไม่มี ก็ไม่ทำให้จิตใจเกิดความขึ้นลง จิตใจคงสงบเป็นปรกติ ในเมื่อไม่มีปฏิฆะคือการกระทบ ความยินดีความยินร้ายต่างๆ ตลอดจนถึงกรรมต่างๆ ที่สืบเนื่องไป ก็เกิดขึ้นเพราะมีตัวเรานี่แหละออกรับ ปฏิฆะคือการกระทบก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นภพกับปฏิฆะนี้จึงเนื่องกันดั่งนี้


สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร

........................................
 
อานาปานสติ 4 ขั้นสุดท้ายในอานาปานสติ 16 เป็นธัมมานุปัสสนา หรือ วิปัสสนาล้วน :
 
ขั้นที่ 13 อนิจจานุปัสสี ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ คือชีวิตร่างกายนี้ไม่เที่ยง
 
ขั้นที่ 14 วิราคานุปัสสี ตามเห็นความจางคลาย คือคลายยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง
 
ขั้นที่ 15 นิโรธานุปัสสี ตามเห็นความดับ คือเห็นการเกิดดับของนามรูป
 
ขั้นที่ 16 ปฏินิสสัคคานุปัสสี ตามเห็นความสละคืน คือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น
 
หนังสือวิปัสสนาภาวนา

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

อนิจจา วต สังขารา

ครั้งหนึ่ง พระที่เรียนกรรมฐาน ได้ลาพระพุทธเจ้าเพื่อเข้าป่า...
"
พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบว่า ถ้าพระไปลาพระสารีบุตร พระสารีบุตรจะพูดว่าอย่างไร
จึงให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน

พอไปถึง พระก็ถามพระสารีบุตรว่า...
"ถ้าจะปฏิบัติถึงความเป็นพระโสดาบันจะทำอย่างไรครับ?"
พระสารีบุตร ก็บอก "ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็คือร่างกาย ถ้าตัดได้อย่างหยาบ คือมีความรู้สึกว่าร่างกายนี้จะต้องตาย ก็เป็นพระโสดาบัน"

พระก็ถามว่า "ถ้าผมเป็นพระโสดาบันแล้ว จะเป็นพระสกิทาคามีจะทำอย่างไรครับ?"
พระสารีบุตร ก็บอกว่า "ก็พิจารณาแบบนั้นแหละ ถ้าตัดละเอียดลงไป สามารถทรงอารมณ์ใจให้จิตสะอาดพอสมควรก็เป็นพระสกิทาคามี"

พระก็ถามว่า "ถ้าผมเป็นพระสกิทาคามีแล้ว ต้องการจะเป็นพระอนาคามีจะทำอย่างไรครับ?"
ท่านก็บอกว่า "ก็ตัดลงไปอีก ให้คิดว่าร่างกายเป็นของสกปรกโสโครก เป็นที่น่าเกลียด เรารังเกียจร่างกายว่าเป็นของเน่า ของสกปรก เกิด นิพพิทาญาณ ก็เป็นพระอนาคามี"

พระก็ถามต่อไปอีกว่า "ถ้าผมเป็นพระอนาคามีแล้ว จะเป็นพระอรหันต์จะทำอย่างไรครับ?"

ท่านก็บอกว่า "ก็พิจารณาตัวนี้แหละจนกระทั่งจิตวางเฉย เฉยในร่างกายเรา เฉยในร่างกายของบุคคลอื่น เฉยในวัตถุธาตุทั้งหมด คือไม่ยินดียินร้าย ถือว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ มีเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นของธรรมดา ถ้าร่างกายเจ็บป่วยเราก็ไม่เดือดร้อน ใครเขาด่ามาก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา ตัดร่างกายได้ขนาดนี้ก็เป็นพระอรหันต์"

พระก็เลยถามว่า "ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็เลิกทำใช่ไหมครับ?"
พระสารีบุตร ก็บอกว่า "ไม่ใช่ พระอรหันต์ทำหนัก เพื่อความอยู่เป็นสุข"

"
- หนังสือหลวงพ่อตอบปัญหา

เคยมีครั้งหนึ่งคิดว่าตัวเองอ่านหนังสือมากแล้ว เหลือแต่ปฏิบัติ จึงเลิกอ่านหนังสือไป แต่เมื่อเลิกอ่านหนังสือแล้ว กลับไม่ได้ปฏิบัติ และยิ่งห่างไกลกว่าเดิม เรื่องนี้ช่วยเตือนสติว่า ไม่ใช่คิดว่ารู้แล้ว จึงเลิกอ่าน ไม่ใช่คิดว่าทำเป็นแล้ว จึงเลิกทำ

........................................

นายจุลกาลมหากาล มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา และเบื่อหน่ายการครองเรือน จึงออกบวช ได้บำเพ็ญวิปัสสนาธุระ อยู่ป่าช้าเป็นวัตร จนถึงพระอรหันตผล

วันหนึ่งท่านไปดูเผาศพเด็กรุ่นราวอายุ 18 รูปร่างสะสวย แล้วจึงพิจารณาว่า " เมื่อก่อนร่างกายนี้สวยสดงดงาม ใครเห็นก็รักใคร่ อยากได้อยากชม บัดนี้ ถึงความสิ้นความเสื่อมไปโดยครู่เดียว" และกล่าวเป็นคาถาว่า

อนิจจา วต สังขารา อุปปาทวยธัมมิโน
อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปสโม สุโข
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
บังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
การเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นความสุข
- หนังสือนิทานธรรมบทในพระไตรปิฏก

สังขาร คือ ขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงแล้วเหลือรูป-นาม ซึ่งล้วนไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น

ไม่ว่าเราจะได้เห็น ได้ฟัง ดมกลิ่น รู้รส สัมผัส หรือคิดอะไรก็ตาม เมื่อรับรู้แล้วก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส คิดอะไรก็สักแต่รู้ ก็ให้พิจารณาว่าไม่ใช่ตัวตน บุคคล เรา เขา แล้วถอนสัตตสัญญา สำคัญว่าเป็นสัตว์บุคคลเสีย เหลือแต่ปรมัตถสัจจะ เห็นตามความเป็นจริง และปล่อยวางลงได้

- หนังสือวิปัสสนาภาวนา

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก