วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทำด้วยความเข้าใจ


ก็เคยสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ถ้าเราไม่ตอบโต้คนที่มาว่าเรา เราจะไม่โดนรังแกหรือ

วันนี้ได้คำตอบแล้ว...



ในอดีตกาล เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญากระบือ มีลิงกระโดดขึ้นไปบนหลังพญากระบือแล้วเล่นตามใจชอบ เป็นแบบนี้อยู่หลายวัน

เทวดาที่สถิตอยู่ได้ถามพระโพธิสัตว์ว่าอดทนได้อย่างไร ท่านได้กล่าวตอบว่า


"เรายอมให้ลิงเบียดเบียนเรา ดีกว่าเราไปเบียดเบียนลิงตัวนี้
ถึงอย่างไรเราก็ไม่ทำปาณาติบาต เพียงเพื่อให้พ้นจากทุกข์ในปัจจุบัน
แต่ไม่อาจพ้นจากทุกข์ในอบายเพราะการทำปาณาติบาตนั้น อย่างแน่นอน"

บารมี


การเทียบบารมี บารมีเขาจัดเป็น ๓ ชั้น บารมีต้น ท่านเรียก บารมีเฉย ๆ บารมีตอนกลางท่านเรียก อุปบารมี บารมีสูงสุดท่านเรียก ปรมัตถบารมี


ถ้าคนที่มีบารมีต้นในขั้นเต็ม ท่านผู้นี้จะเก่งเฉพาะทาน กับ ศีล เขาจะทำสะดวกเฉพาะ การให้ทาน กับ การรักษาศีล แต่การรักษาศีลของบารมีขั้นต้นจะไม่ถึงศีล ๘ อย่างเก่งก็มีกันแค่ศีล ๕ ท่านผู้นี้จะไม่พร้อมในการเจริญพระกรรมฐาน ถ้าชวนในการเจริญสมาธิทำกรรมฐานท่านบอกทำไม่ได้ กำลังใจไม่พอ หรือจะพูดให้ดีอีกนิดท่านบอกว่าไม่ว่างพอ เวลาไม่มี นี่สำหรับคนที่มีบุญบารมีขั้นต้นจะอยู่กันแค่นี้

ถ้ามีบารมีเป็น อุปบารมี เขาเรียกว่า บารมีขั้นกลาง อุปบารมี นี่พร้อมที่จะทรงฌานโลกีย์ บารมีนี้พร้อมเรื่องฌานโลกีย์นี่ทรงได้แน่ ท่านพวกนี้จะพอใจในการเจริญพระกรรมฐาน แล้วก็พอใจในการทรงฌาน แต่ว่าถ้าจะชวนในขั้นบุกบั่นในวิปัสสนาญาณ ท่านจะบอกว่าไม่ไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิวิปัสสนาญาณ อาจจะมีบ้างแต่ก็ไม่เข้มแข็งนัก เพราะว่าสมถะกับวิปัสสนาที่แยกกันไม่ได้ ต้องอยู่คู่กัน แต่กำลังด้านวิปัสสนาญาณจะต่ำ จะเข้มแข็งเฉพาะสมถภาวนา แล้วท่านพวกนี้ถึงแม้ว่าจะพอใจในการเจริญกรรมฐาน ถ้าเราบอกว่าหวังนิพพานกันเถอะ ท่านพวกนี้ก็บอกว่าไม่ไหว กำลังใจไม่พอ จะชวนไปนิพพานขนาดไหนก็ตาม เขาจะไม่พร้อมจะไป และก็ไม่พร้อมจะยินดีเรื่องพระนิพพาน พร้อมอยู่แค่ฌานสมาบัติ อันนี้เป็น อุปบารมี นะ

ถ้าเป็น ปรมัตถบารมี เราจะเห็นว่าอันดับแรกอาจจะยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนิพพาน พอสัมผัสวิปัสสนาญาณขั้นเล็กน้อยพอสมควร อาศัยบารมีเก่าเพิ่มพูนหนุนขึ้นมาก็มีความต้องการเรื่องพระนิพพาน พวกที่มีจิตหวังนิพพานนี่จะไปชาตินี้ได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ เพราะการหวังนิพพานกันจริงๆ ต้องหวังกันหลายชาติจนกว่าบารมีที่เป็นปรมัตถบารมีจะสมบูรณ์แบบ คือต้องหวังหลายๆ ชาติ ถ้าจิตหวังพระนิพพานจริงๆ พวกนี้ก็มีหวัง ที่เรียกว่ามีบารมีเป็น ปรมัตถบารมี

ฉะนั้น คนที่จะมีบารมีเข้าถึงปรมัตถบารมีก็ดี อุปบารมีก็ดี ท่านพวกนี้จะต้องผ่านความเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหม กันมามาก เพราะว่าบารมีขั้นต้นก็สามารถเป็นเทวดาเป็นนางฟ้าได้ แต่เป็นพรหมไม่ได้ เพราะบารมีขั้นต้นนี่จะไม่มีฌานโลกีย์ พรหมนี่จะทำบุญแบบไหนก็ตาม ถ้าไม่มีฌานโลกีย์จะไม่สามารถเป็นพรหมได้ สำหรับอุปบารมีนี่เขาพร้อมในการทรงฌาน แต่ว่าเวลาตายไม่ได้เข้าฌานตาย ก็ไปเป็นพรหมไม่ได้้เหมือนกัน ถ้าเวลาจะตายเข้าฌานตายไปก็ไปเป็นพรหมได้ เขาพร้อมแล้ว

สำหรับท่านที่มีบารมีเป็น ปรมัตถบารมี บางทีจะเห็นว่า เรายังบกพร่องในความดีอยู่มาก ศีลก็บกพร่อง สมาธิก็ไม่ทรงตัว ปัญญาก็ไม่แน่นอนนัก ไอ้อย่างนี้มันก็ไม่แน่นอน เพราะคนที่จะไปนิพพานจริงๆ มันอยู่แค่หัวเลี้ยวหัวต่อ อาศัยความเคยชิน อาศัยการฝึกไปบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง ทำผิดบ้าง ทำถูกบ้าง แต่ว่าอารมณ์ชินของอารมณ์ดีอยุ่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ไม่ต้องการเกิด มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่าการเกิดขึ้นมา มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ความเกิดอย่างนี้จะไม่มีกับเราอีก เราจะมีความเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย วันหนึ่งถ้าคิดอย่างนี้สัก ๒ นาที คิดทุกวัน อารมณ์นี้มันจะชิน คำว่าชินก็คือฌาน ฌานก็คือชิน

ในเมื่ออารมณ์คิดจนชินเกิดขึ้น แต่มันก็ไม่มากนัก เห็นทุกข์วันละ ๒-๓ นาที นอกจากนั้นก็เผลอเห็นสุข หรือเมื่อมีการงานเข้ามาคั่น เขาไม่ได้นึกถึงตัวทุกข์ ก็จะหาว่าเขาเลวไม่ได้ ต่อเมื่อเวลาที่ใกล้จะตายขึ้นมาจริงๆ มันป่วยไข้ไม่สบาย การป่วยไข้ไม่สบายมันบังคับจิตให้เห็นว่าร่างกายมันเป็นทุกข์ว่า คนป่วยไม่มีส่วนไหนของร่างกายเป็นสุข แม้แต่ลมก็มีการขัดข้องอยู่เสมอ ก็เห็นว่าการเกิดมันไม่ดีแบบนี้ ร่างกายก็ป่วย อารมณ์ก็ขัดข้อง อาศัยที่จิตคิดจนชินว่า ร่างกายเกิดเป็นของไม่ดี เป็นทุกข์อย่างนี้เราไม่ต้องการมัน อารมณ์นี้ก็จะเกิด ถ้าอารมณ์นี้เกิดขึ้นมาจริงๆ ก่อนหน้าจะตาย ถ้าเป็นฆราวาส อารมณ์นี้จะหนักแน่นในวันนั้นแล้วก็ตายวันนั้น มันอาจจะเกิดมาตอนก่อนๆ มันอาจจะอ่อนไปหน่อย

ถ้าจิตคิดจริงๆ ว่าเกิดเป็นของไม่ดี มันเป็นทุกข์อย่างนี้ เราไม่ต้องการมัน อีกจิตหนึ่งวางเฉย เข้าขั้น สังขารุเปกขาญาณ เป็นวิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย สังขารุเปกขาญาณนี่ญาติโยมฟังแล้วเข้าใจด้วยนะ สังขารุเปกขาญาณหมายความว่าวางเฉยในร่างกาย ร่างกายคนอื่นๆ ไม่สำคัญ สำคัญร่างกายเรา เรามีความรู้สึกว่าร่างกายของเรานี้มันไม่ดีจริงๆ เวลานี้เราปวดที่โน่นบ้าง เสียดที่นี่บ้าง ขัดที่โน่นบ้าง ยอกที่นี่บ้าง มันมีความหิวโหยบ้าง หมดแรงบ้าง จิตใจเพลียไปบ้าง สรุปแล้วร่างกายทั้งร่างกายไม่มีอะไรดี ถ้าความรู้สึกว่าร่างกายไม่ดีเกิดขึ้นในวันนั้น แล้วความจริงใจก็เกิดขึ้นว่าเราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก จิตก็เข้าถึงการวางเฉย ไม่ต้องการอีก มันจะตายก็เชิญตาย เราจะเชิญมันตายหรือไม่เชิญมันตายมันก็ตาย ใช่ไหม ในเมื่อมันจะตาย แต่เราไม่หนักใจในความตาย เราถือว่าถ้ามันตายเมื่อไรเราไปนิพพานเมื่อนั้น แต่ว่าเวลานั้นจะนึกถึงหรือไม่นึกถึงนิพพานก็ไม่สำคัญ ถ้านึกว่าเราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก อารมณ์พระอรหันต์มีแค่นี้นะ วันนั้นท่านจะเป็น พระอรหันต์ จิตใจจะวางเฉยในร่างกาย เห็นร่างกายของเราเราก็เฉย ไม่ต้องการมันอีก เห็นร่างกายคนอื่นเราก็เฉย อย่างนี้เขาเรียก สังขารุเปกขาญาณ ถ้าตายเมื่อไรก็ไปนิพพานทันที นี่ว่าถึงพวกปรมัตถบารมีนะ


- บารมี10 โดยพระราชพรหมยาน

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เนกขัมมะบารมี


บารมี แปลว่า กำลังใจเต็ม
เนกขัมมะ แปลว่า ออกบวช ออกจากกามกิเลส


กล่าวกันว่า บารมี เกิดขึ้นตั้งแต่จิตคิดจะออกบวช


เคยได้ยินเรื่องบารมี 10 และทศชาติชาดก มาก็นาน แต่ไม่ได้ศึกษาสนใจใคร่ครวญ


หากพูดถึงเนกขัมมะบารมี ก็คงนึกถึง พระเตมีย์...
ที่เกิดเป็นโอรสของพระราชา แต่เนื่องด้วยไม่อยากขึ้นครองราชย์ เพราะเกรงต้องทำบาปให้ตกนรก จากการตัดสินผู้ร้าย จึงทำเป็นใบ้ หูหนวก ง่อยเปลี้ย มาตลอด 16 ปี และได้บวชในที่สุด


****

ก็รู้มาคร่าวๆเท่านั้น จนกระทั่งได้อ่าน


ในครั้งอดีตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดอยู่ในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์สมบัติอยู่ 80 โกฏิ (เข้าใจว่าระดับเศรษฐี เพราะคนสมัยนั้นชอบเลข 80 หมายถึง เยอะ) พอบิดาละโลกไปแล้ว ท่านก็มองดูกองมรดก และพิจารณาเห็นว่า


สมบัติที่หมู่ญาติของเราหามาได้นี้ สามารถที่จะใช้ได้ในเฉพาะภพชาตินี้เท่านั้น
ไม่มีใครจะนำเอาไปได้เลย


ท่านจึงตัดสินใจเปิดคลังสมบัติทั้งหมด แล้วทำการบริจาคมหาทานบารมีตลอดเวลา 7 วัน
จากนั้นจึงได้เข้าป่าหิมพานต์ เพื่อบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญตบะอยู่ตามลำพัง


****


อ่านแล้วคิดได้ว่า แม้แต่ชาติสุดท้ายที่ได้ตรัสรู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ได้มีจิตปรารถนาราชสมบัติ แต่กลับมีจิตคิดจะออกบวช

และเป็นแบบนี้มาหลายภพหลายชาติแล้ว


นึกแล้วก็เกิดความเลื่อมใส พระพุทธองค์มีกำลังใจขนาดนี้เลยทีเดียว


วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อักโกสกสูตร - ปุณโณวาทสูตร



อักโกสกสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

" ผู้ไม่โกรธ ฝึกตนแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน

บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก

ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตนและแก่บุคคลอื่น

เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือของตนและของบุคคลอื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา "

*****


ปุณโณวาทสูตร

พระปุณณะได้ทูลขอโอวาทจากพระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

" รูปที่เห็นได้ด้วยตา หรือเสียงที่ได้ยินด้วยหู หรือกลิ่นที่ได้ดมด้วยจมูก หรือรสที่ได้ลิ้มด้วยลิ้น หรือสัมผัสที่ได้แตะต้องด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุ เพลิดเพลิน ยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันติดใจในสิ่งนั้น ความใคร่อยากย่อมเกิด นั่นแหละทุกข์จึงเกิด ... "

หลังจากนั้น พระศาสดาได้ตรัสถามถึงสถานที่ที่พระปุณณะจะไปจำพรรษา พระปุณณะตอบว่า จะไปอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะ

"พวกชาวสุนาปรันตะนั้น ดุร้ายหยาบคายนัก ถ้าพวกเขาด่าเธอ กล่าวโทษเธอ เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาด่า กล่าวโทษเรา ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ได้ทุบตีเราด้วยฝ่ามือ"

"ก็ถ้าพวกเขาทุบตีเธอด้วยฝ่ามือเล่า เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาทุบตีเราด้วยฝ่ามือ ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ขว้างปาเราด้วยก้อนดิน"

"ก็ถ้าพวกเขาใช้ก้อนดินขว้างปาเธอเล่า เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาขว้างปาเราด้วยก้อนดิน ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ทำร้ายเราด้วยท่อนไม้"

"ก็ถ้าพวกเขาทำร้ายเธอด้วยท่อนไม้เล่า เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาทำร้ายเราด้วยท่อนไม้ ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ใช้อาวุธมีคมฟันแทงเรา"

"ก็ถ้าพวกเขาฟันแทงเธอด้วยอาวุธมีคมเล่า เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาฟันแทงเราด้วยอาวุธมีคม ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ฆ่าเราให้ตาย"

"ก็ถ้าพวกเขาเจตนาฆ่าเธอให้ตายเล่า เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า ภิกษุบางรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่อึดอัดระอา เกลียดชังร่างกาย และชีวิตนั้นมีอยู่ จึงแสวงหาอาวุธฆ่าตัวตาย แต่นี่เราไม่ต้องแสวงหาเลย ก็ได้ตายแล้ว"

พระผู้มีพระภาคประทานสาธุการ และตรัสว่า ท่านมีทมะและอุปสมะอย่างนี้ สามารถไปอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะได้ พระปุณณะกลับมาอยู่ในแคว้นสุนาปรันตะ และบรรลุอรหัตตผลในพรรษาแรกนั้น


*****

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

วิธีละความโกรธ

ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ใด  ทำให้จิตใจของผู้นั้นเร่าร้อน เป็นทุกข์ ไม่สบายใจ

“โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ”  แปลว่า ฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมเป็นสุข

• ระลึกถึงโทษของความโกรธ

บุคคลผู้มักโกรธนี้ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว โกรธเต็มประดา ย่อมประพฤติชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจครั้นประพฤติชั่วด้วยกายวาจาใจแล้ว ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ตายไปแล้วย่อมเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ ภูมิ เช่นว่า “ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธ เพราะเหตุที่โกรธตอบนั้น ผู้นั้นกลับเลวกว่าผู้ที่โกรธนั้นเสียอีก ผู้ไม่โกรธตอบผู้โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธขึ้นมาแล้วมีสติระงับใจเสียได้ (ไม่โกรธตอบ) ผู้นั้นเชื่อว่าประพฤติเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่นและผู้ที่มัวโกรธอยู่อย่างนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย”

• ความโกรธคือการทำความทุกข์ให้ตนเอง

เจ้าไปพะนอความโกรธ อันเป็นตัวตัดมูลรากของศีลทั้งหลายที่เจ้ารักษาเสีย ขอถามหน่อย ใครโง่เหมือนเจ้าบ้างเล่า เจ้าโกรธว่า คนอื่นทำกรรมชั่วให้อย่างไรหนอ เจ้าจึงปรารถนาจะทำกรรมเช่นเดียวกันนั้นเสียเองเล่า เจ้าโกรธแล้วจักได้ทำทุกข์ให้แก่เขาหรือไม่ก็ตาม แต่เดี๋ยวนี้ เจ้าก็ได้เบียดเบียนตนเองด้วยโกรธทุกข์ (ความทุกข์ใจเพราะความโกรธ) อยู่แท้ ๆ

กรรมที่มีโทสะเป็นเหตุ จักเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียแก่ตัวเจ้าเองมิใช่หรือ เจ้าจักทำกรรมใดไว้ เจ้าจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น กรรมนี้มีแต่จะทำให้เสวยทุกข์ในนรกเป็นต้น

ที่มา: www.kanlayanatam.com

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2559

สฬายตนวรรค


ช่วงนี้เกิดความคิดขึ้นอย่างหนึ่ง 


คือ เมื่อจิตได้พบความสงบอย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ( จะพยายามจำอารมณ์หรือระลึกถึงอารมณ์ของจิตนั้นเนืองๆ ) มันเกิดความรู้สึกว่า ไม่มีสิ่งใดเทียบได้เลย

ความต้องการแบบโลกๆ มันก็ยิ่งเบาบาง

เช่นว่า จะมีคู่ครอง มันสัมผัสได้แต่จิตที่ฟุ้งซ่าน ถ้าให้เทียบกับความสงบ ความว่าง ความเบาของจิตแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะเลือกแบบแรกแน่ๆ

การได้พบพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น คือที่สุดแล้ว ยิ่งได้ศึกษา ได้พบ ก็ยิ่งยึดมั่นในคำสอน ความสงบความสุขที่ได้จากตรงนี้ ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนให้ออกไปทางอื่นได้

...........

... รูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ 

ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น 

เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าว สรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็ดับไป 

เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ฯลฯ 

... ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ 

ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น 

เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็ดับไป 

เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ 

ด้วยประการฉะนี้ เธอนั้นจึงไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ ฯ

สฬายตนวรรค

...........

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

กำหนดความรู้สึก

ได้อ่านหนังสืออยู่เรื่อยๆ และอยากบันทึกข้อความเนื้อหาที่ตรงใจ ณ ตอนนี้
ส่วนข้อความจะผิดหรือถูกอย่างไรนั้น ไม่สามารถยืนยันได้ เพราะรู้เท่าที่ตัวเองมีประสบการณ์เท่านั้น


  • กำหนดความไม่รังเกียจ ด้วยเมตตา หรือความเป็นธาตุ
  • กำหนดความรังเกียจ โดยเห็นเป็นสิ่งไม่งาม หรือไม่เที่ยง
  • เมื่อได้ผ่านการฝึกฝนอบรมจิตดีแล้ว ย่อมสามารถบังคับความรู้สึกของตนเองได้ดี

ข้อสุดท้ายนี้ ก็เคยอ่านข้อถกเถียงกันไปมาวุ่นวาย แต่ด้วยประสบการณ์ตนเองแล้ว ตามใจความ ก็เห็นว่าเป็นความจริง

  • จิตไม่ยินดี ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะราคะ
  • จิตไม่มุ่งร้าย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะพยาบาท
  • จิตอันความคิดเห็นไม่อาศัย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความคิดเห็น
  • จิตหลุดพ้น ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะกามราคะ
  • จิตไม่เกาะเกี่ยว ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะกิเลส
  • จิตที่กำหนดด้วยศรัทธา ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความเป็นผู้ไม่ศรัทธา

บางส่วนจากมูล 16 ภูมิแห่งฤทธิ์

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559

ธรรมฉันทะ

ฉันทะ: ความพอใจ
เป็นได้ทั้งกลางๆ อกุศล กุศล เป็นอัญญสมานาเจตสิก

กุศลฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะ ได้แก่ กัตตุกัมยตาฉันทะ คือ ความต้องการที่จะทำ(ให้ดี) ตรงข้ามกับ ตัณหาฉันทะ

เริ่มต้นทางธรรม ย่อมต้องมีฉันทะในการศึกษา,ปฏิบัติก่อน

พระพุทธเจ้าคงไม่ได้ห้ามฉันทะกระมัง เพราะพระองค์ก็สอนเรื่อง อิทธิบาท 4: ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

จนกระทั่งเมื่อบรรลุจุดหมายแล้ว ก็ไม่ต้องใช้ฉันทะนั่นเอง

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

บำเพ็ญเพียร

เหลือบไปเห็นหนังสือเล่มนี้ ตอนเดินเล่นในร้านหนังสือ

"พุทธปาฏิหาริย์ ตำนานหรือเรื่องจริง"


ความจริงเรื่องปาฏิหาริย์นั้น ไม่ได้เป็นที่คลางแคลงใจเลย

แต่เนื้อหาบางส่วนของผู้เขียนนั้นก็ตรงกับสิ่งที่คิดเหมือนกัน นั่นคือ


เมื่อพอได้อ่านได้ศึกษามากขึ้นกลับพบว่า บางเรื่องที่เคยได้ยินได้ฟังมา ไม่ได้มีในพระไตรปิฎก
อาจจะด้วยประเพณี ความเชื่อ ที่เข้ามามีอิทธิพล ก็ทำให้เรื่องราวคลาดเคลื่อนไป
บางเรื่องก็เกิดจากความไม่เข้าใจในภาษาบ้าง ก็อยากจะหาความแน่ชัดให้มากกว่านี้


ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องพุทธประวัตินั้น ไม่ถึงกับมีผลมากมายนัก เพราะสิ่งที่เกิดกับตนเองนั้นก็สร้างศรัทธาได้เต็มเปี่ยมแล้ว จึงมุ่งสนใจที่พระธรรมคำสอนมากกว่า



อ่านมาถึงบท"บำเพ็ญเพียรทางจิต" ก็จุดประเด็นความน่าสนใจ...


เมื่อพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิต ทรงดำริเปรียบเทียบอุปมา ๓ ข้อ ซึ่งพระองค์ไม่เคยสดับ ไม่เคยดำริมาก่อนเลย ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า
              สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งมีกายไม่ได้หลีกออกจากกาม และมีความพอใจรักใคร่ในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน ที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง บุคคลแช่ไว้ในน้ำ บุรุษมีความต้องการด้วยไฟ ถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้า ด้วยหวังจะให้เกิดไฟ บุรุษนั้นก็ไม่อาจให้ไฟเกิดขึ้นได้ ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นยังสดมียางอยู่ ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ

              อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความรักใคร่พอใจในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้ห่างไกลจากน้ำ บุคคลตั้งไว้บนบก บุรุษก็ไม่อาจสีให้เกิดไฟได้ ถ้าสีเข้า ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นแม้ตั้งอยู่บนบกแล้ว แต่ยังเป็นของสดชุ่มด้วยยาง

              อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจากกามแล้ว และละความใคร่ในกาม ให้สงบระงับดีแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี แม้ไม่ได้เสวยเลยก็ดี ก็ควรจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้งที่ไกลจากน้ำ บุคคลวางไว้บนบก บุรุษอาจสีให้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นของแห้ง ทั้งตั้งอยู่บนบก



ในวันตรัสรู้นั้น เมื่อพระองค์ทรงบรรลุฌานสี่ ก็ได้พบความรู้พิเศษที่เรียกว่า ญาณ 3 ประการ


  ๑) บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ตามระลึกได้ถึงชาติที่เคยเกิดมาตลอดสังวัฏฏกัลป์เป็นอันมาก ในราตรีปฐมยาม

  ๒) จุตุปปาตญาณ  รู้ถึงการตายและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ในราตรีมัชฌิมยาม




เมื่อเห็นความเกิดตายอยู่เป็นประจำซ้ำซาก ก็ทรงสังเวชสลดพระหฤทัย จึงทรงหยั่งพระญาณลงพิจารณาปัจจยาการหรือปฏิจจสมุปบาทธรรม ได้ทรงค้นพบว่า ตัวเหตุที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารอย่างไม่มีวันสิ้นสุดนั้นคือ "อวิชชา" มีปกติกำบังมิให้เห็นแจ้งในพระไตรลักษณญาณ พระจตุราริยสัจธรรม

พระองค์ผู้มีพระทัยผ่องแผ้ว น้อมเจริญพระวิปัสสนาญาณภาวนา เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งเบญจขันธ์หรือรูปนาม



  ๓) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่สมบูรณ์พร้อมจนทำลายกิเลสอย่างละเอียดที่สุดได้หมดสิ้นไม่มีเชื้อเหลือ  ในราตรีปัจฉิมยาม



บางส่วนคัดย่อจาก

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

กกจูปมสูตร



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เป็นคนสงบเสงี่ยมจัด เป็นคนอ่อนโยนจัด เป็นคนเรียบร้อยจัด ได้ก็เพียงชั่วเวลาที่ยังไม่ได้กระทบด้วยคำอันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใด เธอกระทบถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจเข้า ก็ยังเป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยนเรียบร้อยอยู่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้นแหละ ควรถือว่าเธอเป็นคนสงบเสงี่ยม เป็นคนอ่อนโยน เป็นคนเรียบร้อยจริง



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ
กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑
กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑
กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑
กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม
จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม
จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม
จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์
เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น
และเราแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก
ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ไม่ควรฟุ้งซ่าน

" โมคคัลลานะ อย่างหนึ่ง เธอควรสำเหนียกว่า 'เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุให้ต้องเถียงกัน ถือผิดต่อกัน'
เพราะเมื่อมีถ้อยคำทำนองนี้ ก็จะต้องพูดมาก เมื่อพูดมากก็เกิดความฟุ้งซ่าน ครั้นฟุ้งซ่านก็จะเกิดความไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวมจิตก็จะเหินห่างจากสมาธิ' "

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก