วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา


การเดินเลือกหนังสือในร้านหนังสือธรรมะ ก็มักจะได้หนังสือดีติดไม้ติดมือกลับมาเสมอ
อย่างหนังสือ ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา เป็นบทสนทนาที่มีความรู้ ได้จากการปฏิบัติจริง


ที่เขียนแบบนี้ เพราะมีหลายอย่างตรงใจกับที่เคยคิด เคยสงสัย และประสบพบเจอมา
แต่มิใช่ว่าจะปฏิบัติได้ยอดเยี่ยมอะไร ก็ยังมีโลภ โกรธ หลง เต็มที่อยู่เหมือนกัน


( * ไม่ว่าหนังสือนี้จะมีที่มาอย่างไร แต่หนังสือหรือคำสอนที่ดี ที่ตรงกับคำสอนของพระผู้มีพระภาค ก็ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว)



ขอยกตัวอย่างสิ่งที่ตรงใจ

ถามว่า ถ้าเราจะหมายจะคิดอยู่ในเรื่องความจริงของขันธ์ อย่างนี้จะเป็นปัญหาไหม
ตอบว่า ถ้าคิดเอาหมายเอา ก็เป็นสมถะ ที่เรียกว่า มรณัสสติ เพราะปัญญานั้นไม่ใช่เรื่องหมายหรือเรื่องคิด เป็นเรื่องของความเห็นอารมณ์ปัจจุบันที่ปรากฎเฉพาะหน้าราวกับตาเห็นรูปจึงจะเกิดปัญญา


(สนทนาถึงสักกายทิฐิ)

ตอบว่า ควรจะนึกถึง พระโกณทัญญะในธัมมจักร ท่านได้ความเห็นว่า 
ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมมํ 
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับเป็นธรรมดา 

และพระสารีบุตรพบพระอัสสชิ ได้ฟังอริยสัจย่อว่า 
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิ โรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น

พระมหาสมณะมีปกติกล่าวอย่างนี้ ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรมละสักกายทิฐิได้


ถามว่า ที่ต้องสำรวมวจีกรรม ๓ เพราะเหตุอะไร ทำไมจึงไม่ขาดอย่างมุสาวาท
ตอบว่า เป็นด้วยกามราคะกับปฏิฆะ สังโยชน์ทั้ง ๒ นี้ยังละไม่ได้


ถามว่า รูปราคะ คือ ยินดีในรูปฌาน อรูปราคะ ยินดีในอรูปฌาน ถ้าเช่นนั้นคนที่ไม่ได้บรรลุสมาบัติ ๘ สังโยชน์ทั้ง ๒ ก็ไม่มีโอกาสจะเกิดได้ เมื่อเป็นเช่นนี้สังโยชน์ ๒ ไม่มีหรือ
ตอบว่า มี ไม่เกิดในฌาน ก็ไปเกิดในเรื่องอื่น 
ความยินดีในรูปขันธ์ หรือความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นชื่อว่า รูปราคะ
ความยินดีในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือยินดีในสมถวิปัสสนา หรือยินดีในส่วนมรรคผล ที่ได้บรรลุเสขคุณแล้ว เหล่านี้ก็เป็นอรูปราคะได้


ถามว่า ถ้าเราไม่ได้บรรลุฌานชั้นสูงๆ จะเจริญปัญญา เพื่อให้ถึงซึ่งมรรคและผลจะได้ไหม
ตอบว่า ได้ เพราะวิธีเจริญปัญญาก็ต้องอาศัยสมาธิจริงอยู่ แต่ไม่ต้องถึงกับฌาน อาศัยสงบจิตที่พ้นนิวรณ์ ก็พอเป็นบาทของวิปัสสนาได้


๑๑๑๑๑

ท้ายนี้อ่านเจอและได้ข้อคิดจาก พระไพศาล วิสาโล ความว่า

     เมื่อมือถูกไฟลวก มือจะชักออก นี่คือความฉลาดของกาย แต่เมื่อโกรธ ใจจะกอดความโกรธเอาไว้ ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ จะเห็นว่าใจโง่กว่ากาย ชอบหาทุกข์ใส่ตัว

คำพูดนี้เห็นจะจริง ร่างกายยังรู้จักทำเพื่อความอยู่เป็นสุข แต่พอใจเป็นทุกข์ ทำไมจึงไม่ทำเพื่อความอยู่เป็นสุขบ้าง จะเก็บความทุกข์ไว้ทำไม


วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ยันต์

จริงๆได้เคยหาอ่านศึกษาเรื่องยันต์มาบ้าง เห็นว่ายันต์และอักษรขอมนั้นสวยดี






อิ สวา สุ
 นะ มะ อะ อุ
นะ โม พุ ทธา ยะ
นะ มะ พะ ทะ
จะ ภะ กะ สะ


อิ สวา สุ คือ หัวใจพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

นะ มะ อะ อุ เป็นการหนุนธาตุด้วยแก้ว ๔ ดวง คือ แก้วมณีโชติ แก้วไพฑูรย์ แก้ววิเชียร แก้วปัทราช ตามลำดับ

นะ โม พุ ทธา ยะ โดยทั่วไปนั้น หมายถึง พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ พระกุกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป พระสมณโคดม พระศรีอริยเมตตรัย
แต่สำหรับยันต์นี้ เป็นการตั้งธาตุ จึงหมายถึง ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม และอากาศธาตุ

นะ มะ พะ ทะ หมายถึง ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ตามลำดับ
หมายเหตุ ตรงนี้จะพ้องกับ นะมะ พะธะ ซึ่ง นะมะ = นะโม พะธะ = พุทโธ/พระพุทธเจ้า หมายถึง การนอบน้อมสักการะต่อพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์

จะ ภะ กะ สะ หมายถึง ธาตุพระกรณี คือ น้ำ ดิน ไฟ ลม ตามลำดับ


เมื่อรวมพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ธาตุทั้ง ๔ และดวงแก้วทั้ง ๔ จึงจะบริบูรณ์ ทำให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์



รูปจาก www.ittiyano.com
เนื้อหาส่วนหนึ่งจาก powerprotectionss.blogspot.com

นวังคสัตถุศาสน์



เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่อธิบายในพระไตรปิฎก...


...ครั้งนั้นพระสารีบุตรได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคและกราบทูลถามว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน และได้ถามต่อว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้พระศาสนาไม่ดำรงอยู่นาน


พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน
เพราะทรงท้อพระทัย เพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก

พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน
มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก

.........


นวังคสัตถุศาสน์ คือ พุทธพจน์ 9 ประการ คือ

1. สุตตะ คือ พระสูตรต่างๆ และวินัย ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิเทส ขันธกะ ปริวาร และสูตรต่าง ๆ

2. เคยยะ หมายถึง พระสูตรที่มีคาถาผสม

3. เวยยากรณะ คือ คำสอนที่มีลักษณะเป็นคำตอบ หมายเอาคำสอนในพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด

4. คาถา คือ ข้อความร้อยกรองที่เป็นคาถาล้วนๆ เช่น บทประพันธ์ในเถรคาถา เถรีคาถา ธรรมบท และคาถาที่ไม่เรียกว่า สูตรในสุตตนิบาต

5. อุทาน คือ คำพูดที่เปล่งออกมาจากความประทับใจในบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือมาจากได้เห็นสัจธรรมบางอย่างอันเป็นภาวะที่น่าอัศจรรย์

6. อิติวุตตกะ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระสาวกหรือบุคคลบางคนได้ยกขึ้นมาอ้าง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นหรือเป็นหลักฐาน

7. ชาดก เป็นเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า

8. อัพภูตธรรม คือ คำสอนหรือเรื่องน่าอัศจรรย์ใจ

9. เวทัลละ คือ ข้อความที่ถามตอบกันไปมา คำสอนประเภทที่แจกแจงความหมายอย่างละเอียด


เนื้อหาอ้างอิงจาก
http://www.vinaya.mbu.ac.th/sec2book1/page004.htm
https://www.gotoknow.org/posts/215842

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระวินัย

ได้เกริ่นเรื่องพระวินัยไว้ ขอเพิ่มเติมสักหน่อย
.......................................................................


พระวินัยปิฎกจัดแบ่งเป็น 5 คัมภีร์ เรียกชื่อย่อว่า 'อา ปา ม จุ ป' บ้าง 'ปา ปา ม จุ ป' บ้าง คือ

อา = อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก
ปา = ปาจิตตีย์
ม = มหาวรรค
จุ = จุลววรค
ป = ปริวาร


หรือแบ่งเป็น 5 ส่วน ดังนี้

1. ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทหรือศีลของภิกษุ 227 ข้อ
2. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทหรือศีลของภิกษุณี 311 ข้อ
3. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ อันเป็นขนมธรรมเนียมระเบียบวิธีของภิกษุ มี 10 ขันธกะ
4. จุลวรรค ว่าด้วยวัตร ธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของพระสงฆ์
5. ปริวาร ว่าด้วยคู่มือวินัย เป็นคำถามตอบวินัยโดยย่อๆ ทุกวิภังค์ และขันธกะ
 

สิกขาบทในพระวินัยนั้น แบ่งโทษออกเป็น 3 ชั้น คือ

1. ปาราชิก ยังผู้ต้องให้ขาดจากความเป็นภิกษุ ต้องสึกออกไปจะบวชใหม่ไม่ได้ตลอดชีวิต

2. สังฆาทิเสส ยังผู้ต้องให้อยู่กรรม ประพฤติวัตร เป็นการประจานตนตามวันที่กำหนด หลังจากได้รับอัพภานกรรมจากสงฆ์แล้ว ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามเดิม

3. ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาษิต เป็นอาบัติที่อาจพ้นได้ด้วยการแสดง คือการสารภาพความผิดของตนแก่ภิกษุรูปอื่น


จากที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า พระวินัยที่ได้บัญญัตินั้นมีความละเอียดลึกซึ้ง
ยกตัวอย่างปาราชิกสิกขาบทที่ 1 ว่าด้วยการเสพเมถุน
ที่หน้าเพจ th.wikisource.org/wiki/พระวินัยปิฎก_เล่ม_๘_ปริวาร ได้เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า

มีเป้าหมายให้พระภิกษุประพฤติพรมจรรย์ เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟู ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนต่างๆตามภูมิชั้นของจิต อย่างชั้น กามาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามคุณ คือจิตของคนสามัญทั่วไป

พระพุทธศาสนา สอนให้คนตัดโลกียวิสัย เพื่อมุ่งสู่โลกุตตรภูมิ และประการแรกที่ต้องทำ คือ ตัดกามารมณ์ ถ้าตัดได้จะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมอย่างรวดเร็ว

ก็เมื่อจุดหมายคือพระนิพพาน การหลุดพ้นจากสังสารวัฏแล้ว แต่เพศสัมพันธ์นั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้สังสารวัฏเกิดต่อไป

 .......................................................................

เนื้อหาบางส่วนอ้างอิงจาก
https://www.l3nr.org/posts/226184
หนังสือพระวินัยปิฎกย่อ

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระไพรีพินาศ


จากวันนี้ที่ได้ไปกราบสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และได้ทำบุญ ก็ได้รับเหรียญพระไพรีพินาศมา



ด้านหลังของเหรียญ เป็นอักษรขอม 12 ตัว เขียนว่า

อิ  สวา  สุ
อ    สํ    วิ
สุ   โล   ปุ
ส    พุ    ภ

มีความหมายดังนี้

อิ สวา สุ หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ใช้ยันต์ตัวนี้ในการบริกรรมควงกัน 3 บท คือ อิ สวา สุ สุ สวา อิ สวา สุ อิ เป็นพระคาถาคุ้มกันภัย โดย

อิ มาจาก บทพระพุทธคุณ 9 (หรือ 56) คือ อิติปิโส...
สวา มาจาก บทพระธรรมคุณ 6 (หรือ 38) คือ สะวากขาโต...
สุ มาจาก บทพระสังฆคุณ 9 (หรือ 14) คือ สุปฏิปันโน...

อ สํ วิ สุ โล ปุ ส พุ ภ หมายถึง พุทธคุณ 9 หรือ นวหรคุณ

อ มาจาก อรหัง
สํ มาจาก สัมมา สัมพุทโธ
วิ มาจาก วิชชา จรณะสัมปันโน
สุ มาจาก สุคโต
โล มาจาก โลกวิทู
ปุ มาจาก อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ
ส มาจาก สัตถา เทวมนุสสานัง
พุ มาจาก พุทโธ
ภ มาจาก ภควา


รูปและเนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างอิงจาก
www.web-pra.com
www.komchadleuk.com

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก