วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2564

เอาไว้เตือนตนเอง

บุคคลที่อยู่ในทางโลก มิควรไปกล่าวว่าบุคคลที่อยู่ในทางธรรม

บุคคลที่อยู่ในทางธรรม ก็เช่นเดียวกัน มิควรไปติติงบุคคลที่อยู่ในทางโลก

พอเรามาแตะธรรมะนิดนึงก็โพนทะนาว่าคนอื่น

พอเรารู้ธรรมะ (แต่)คนอื่นไม่รู้ 'เธอเสียเวลา เอาเวลาไปทำอะไร ทำไมไม่ไปเรียนธรรมะ'

แค่รู้ธรรมะ(เท่า)หางอึ่ง ว่าคนอื่น(เสีย)แล้ว

(ท่านจึงว่า) เรียนธรรมะแล้วเหมือนจับงูพิษที่หาง

(เพราะฉะนั้น) ไม่ต้องพูด

🍀🍀🍀

ใจมันเบื่อ อยากจะลาออก ... อย่าทำอย่างนั้นเชียวนะ

ที่มา: เรื่องที่ไกลเอามาเล่าใหม่ 1

🍀🍀🍀

เพิ่งคิดแบบเดียวกันนี้ได้ไม่นาน ก็ได้ฟังของอ.ประเสริฐพอดีเลยแหะ

สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน แค่เพียงใบไม้หนึ่งกำมือ แต่แม้ใบไม้ใบเดียว ก็ยังไม่กล้าพูดเลยว่า ได้รู้และเข้าใจขนาดนั้นแล้ว และก็ไม่รู้ด้วยว่าที่ตัวเองรู้และเข้าใจนั้น ถูกต้อง 100% แล้วหรือยัง

ในเมื่อไม่ได้รู้ใบไม้ทั้งกำมือ ทำไมจะกล้าตัดสินว่าสิ่งที่คนอื่นรู้หรือเข้าใจนั้นผิดเล่า (เหมือนตาบอดคลำช้างไง)

อาจจะเป็นขั้นตอนและวิธีของแต่ละคน ที่จะได้เข้าถึงแก่นคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่หรือ

วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

แปลเป็นอภิธรรมได้ว่า

เคยได้ยินคนเล่ามา 2-3 ครั้งแล้วว่า นับถือคริสต์แล้วสบายใจ

Proverbs 3:5-6
Trust in the Lord with all your heart
    and lean not on your own understanding;
in all your ways submit to him,
    and he will make your paths straight.

พิจารณาตามแล้วก็เห็นว่าสบายใจดี ไม่ต้องสนใจว่าจะดีหรือร้าย ทุกอย่างที่เกิดขึ้น พระเจ้าได้กำหนดเพื่อให้เข้าใกล้พระเจ้า 
ก็ถือเป็นกุศโลบายที่ดี เพราะผลลัพธ์ที่ได้ คือ การปล่อยวาง และ ความสบายใจนั่นเอง
จะพอเปรียบเทียบเป็นอภิธรรม เรื่องการปล่อยวาง แบบนี้ได้ไหมว่า

"ผู้มีปัญญาไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรหวังถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละไปแล้ว สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้ไปถึง"

ไปเจอ Quote นึง จับใจดี...

Whatever life brings you, remain thoughtful. Don't let them change the great things about you.

แปล(เอง)เป็นอภิธรรมได้ว่า 

"เมื่ออายตนะถูกกระทบ อย่าไหลไปในอารมณ์ทั้งหลายอันชอบใจ และ อย่าเดือดร้อนไปในอารมณ์ทั้งหลายอันไม่ชอบใจ"

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2564

มรรค ๘

เรื่องมรรค ๘ ก็เป็นเหมือนเรื่องอริยสัจ ๔ ในบทความแรก  ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่นัก
อ่านแล้วก็ไม่เข้าใจว่าคำสอนต่างๆจะสรุปลงในมรรค ๘ ได้อย่างไร

ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม จำได้ว่า สัมมาทิฏฐิ แปลว่า เห็นชอบ ก็รับรู้แค่นั้น

สัมมาวาจา ก็เข้าใจแค่ว่า เว้นจากการพูดเท็จ, พูดส่อเสียด, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ

สัมมาวาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ทุกวันนี้ก็ทำงานสุจริต


จนเมื่อเร็วๆนี้ ได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง อธิบายความหมายของคำว่า สัมมาทิฏฐิ
จำคำพูดไม่ได้แม่นยำนัก แต่ไม่เหมือนกับสิ่งที่เคยจำมา จึงสะดุดใจ และมาค้นหาความหมายของสัมมาทิฏฐิ

🍀🍀🍀

การรู้ปล่อยวางในอารมณ์ เป็นวิถีแห่งความสงบสุข

การฝึกจิตให้รู้ปล่อยวางความวุ่นวาย ความรู้สึกยินดียินร้าย ที่เกิดเป็นกิเลส อกุศล เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้จิตไม่เศร้าหมอง

การท่องธัมมะภาวนาไว้ในใจอยู่เสมอ จะช่วยให้จิตรู้ปล่อยวาง ยิ่งเพียรได้ตลอดยิ่งดี ใจก็เกิดความสบาย  จัดเป็นการดำริชอบตามอริยมรรคมีองค์ ๘

ย่อจากการรู้ปล่อยวางในอารมณ์ หลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

🍀🍀🍀

ตามสัมมาทิฏฐิสูตร สัมมาทิฏฐิ คือ การรู้ชัดซึ่งอกุศล มูลเหตุของอกุศล - ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ -  รู้ชัดซึ่งกุศล และมูลเหตุของกุศล

อกุศลทางกาย ได้แก่  ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
อกุศลทางวาจา ได้แก่  พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
อกุศลทางใจ ได้แก่  อยากได้ของผู้อื่น ปองร้าย และเห็นผิดจากคลองธรรม คือ ไม่เห็นว่า

  • ทานที่ให้แล้วมีผล
  • การสงเคราะห์มีผล
  • การยกย่องบูชาบุคคลที่ควรบูชามีผล
  • ผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง
  • โลกนี้มี
  • โลกหน้ามี
  • แม่มี
  • พ่อมี
  • สัตว์ที่เกิดแบบโอปปาติกะมี
  • พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วมี


สัมมาทิฏฐิ เป็นเบื้องต้นของการทำกุศลธรรม และอยู่ในหมวดของปัญญา ในศีล-สมาธิ-ปัญญา

🍀🍀🍀

จำไม่ได้ว่าได้ยินจากพระ/อาจารย์ท่านไหน สอนว่า "มรรค 8 ทุกข้อ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์"

เพิ่งจะเริ่มเข้าใจเดี๋ยวนี้เอง ความว่า ...


บุคคลย่อมพยายามละมิจฉาวาจา เพื่อบรรลุสัมมาวาจา ความพยายามนั้น เป็นสัมมาวายามะ

บุคคลมีสติละมิจฉาวาจาได้ มีสติบรรลุสัมมาวาจาอยู่ สตินั้นเป็นสัมมาสติ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาวาจาของบุคคลนั้น ฯ

(๕)  ถ้าบัณฑิตรู้จักกาลแล้ว พึงประสงค์จะพูด

-  ควรเป็นคนมีปัญญา

-  ไม่เป็นคนเจ้าโทสะ

-  ไม่โอ้อวด

-  มีใจไม่ฟุ้งซ่าน

-  ไม่ใจเบาหุนหันพลันแล่น

-  ไม่เพ่งโทษ

กล่าวแต่ถ้อยคำที่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมพูดกัน และประกอบด้วยธรรมซึ่งพระอริยเจ้าพูดจากันเพราะรู้ทั่วถึงได้เป็นอย่างดี เขาจึงพาทีได้

-  บุคคลควรอนุโมทนาคำที่เป็นสุภาษิต

-  ไม่ควรรุกรานในถ้อยคำที่กล่าวชั่ว

-  ไม่ควรศึกษาความแข่งดี

-  และไม่ควรยึดถือความพลั้งพลาด

-  ไม่ควรทับถม

-  ไม่ควรข่มขี่

-  ไม่ควรพูดถ้อยคำเหลาะแหละ

(๖) วาจาใด เป็นปม เป็นกาก เผ็ดร้อนต่อผู้อื่น เกี่ยวผู้อื่นไว้ ยั่วให้โกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ละวาจาเช่นนั้นเสีย

วาจาใด ไร้โทษ สบายหู ไพเราะ จับใจ เป็นวาจาของชาวเมืองเป็นที่ยินดีเจริญใจของชนหมู่มาก กล่าววาจาเช่นนั้น

ที่มา ส - สัมมาสมาธิ | มูลนิธิอุทยานธรรม

🍀🍀🍀

สัมมาวาจา คือ วาจาที่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน นั่นแล

ความเข้าใจที่เคยมีมานี้ ช่างตื้นเขินเสียจริงๆ ก็ยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า รู้มรรค 8 ทั้งหมด ก็ต้องศึกษาต่อไป :)


บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก