วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

อย่าสนใจในรูป

ที่เรายังไปหาความเลวของบุคคลอื่น เสียดสีเขาบ้าง พูดกระทบกระเทียบเขาบ้าง ทำลายความสุขใจเขาบ้าง นั่นแสดงว่า เรามันเลวที่สุดของความเลว คือความเลวมันไม่ได้ขังอยู่เฉพาะในใจ มันไหลออกมาทางกายไหลออกมาทางวาจา เพราะมันล้น 

นี่ขอทุกท่านจงจำไว้ อย่าไปมองดูความเลวของคนอื่น มองดูความเลวของตน ไม่ต้องไปปรับปรุงบุคคลอื่น ปรับปรุงเราเองให้มันดีที่สุด 

สำหรับคนที่เขามาสร้างความชั่วให้สะเทือนใจเรานั่นเขาเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ไม่มีทางที่จะคืนตัวได้ เขาก็มีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความเศร้าหมอง เพราะกิเลสมันทำจิตใจให้เศร้าหมอง

ถ้าเราจะไปต่อล้อต่อเถียงจะกระทำตอบ เราก็จะเลวตามเขา ไม่มีประโยชน์ 

จิตเราก็ระงับความโกรธด้วยอำนาจ ขันติ หรือ อุเบกขา เขาเลวก็ปล่อยให้เขาเลวไปแต่ผู้เดียว เราไม่ยอมเลวด้วย 

อย่าทำอารมณ์ให้วุ่นวาย ดีหรือชั่วมันอยู่ที่การควบคุมกำลังใจ ถ้าใจของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียอย่างเดียว ใครจะว่าดีหรือชั่ว ไม่มีความสำคัญ เขาจะประณามว่าเลวมันก็เลวไม่ได้ ถ้าจิตของเราชั่วเขาจะสรรเสริญว่าดี มันก็ดีไม่ได้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าทรงให้รักษากำลังใจ


********


เราจักเห็นรูปเพียงสักแต่ว่าเห็น จักฟังเสียงสักแต่ว่าฟัง จักรู้สักแต่ว่ารู้

อย่าให้มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าจับเกาะในการเห็น การฟัง และการรู้นั้น

อย่าให้ความดีใจหรือเสียใจรั่วไหลเข้าสู่จิตใจเพราะการได้เห็น ได้ฟัง และได้รู้นั้น

ด้วยอาการอย่างนี้ ตัวเธอจักไม่มีในโลกนี้ หรือในโลกไหนๆ นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์



วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ทำเอาหนังสือธรรมะ..ธรรมดาไปเลย

...

ว่าแล้วก็เจอบทความนี้ ค่อนข้างตรงใจ
...

การฝึกใจหลวงปู่ชา สุภัทโท หนังสือ หมวด: 


ตอนแรกเราจะต้องฝึกใจของเราอย่างนี้ เราอาจยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร ทำไป ทำไปก่อน ฉะนั้นเมื่อครูอาจารย์บอกให้ทำอย่างใดก็ทำตามไปก่อน แล้วก็จะค่อยมีความอดทนอดกลั้นขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรให้อดทนอดกลั้นไว้ก่อน เพราะมันเป็นอย่างนั้นเอง อย่างเช่น เมื่อเริ่มฝึกนั่งสมาธิ เราก็ต้องการความสงบทีเดียว แต่ก็จะไม่ได้ความสงบ เพราะมันยังไม่เคยทำสมาธิมาก่อน ใจก็บอกว่า “จะนั่งอย่างนี้แหละจนกว่าจะได้ความสงบ”

ไม่ควรจะปล่อยใจไปตามอารมณ์ ควรที่จะฝึกฝนอบรมตนเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขี้เกียจก็ช่าง ขยันก็ช่าง ให้ปฏิบัติมันไปเรื่อยๆ ลองคิดดูซิ ทำอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ การปล่อยใจตามอารมณ์นั้นจะไม่มีวันถึงธรรมของพระพุทธเจ้า

การตามใจตัวเองไม่ใช่แนวทางของพระพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติธรรมตามความคิดความเห็นของเรา เราจะไม่มีวันรู้แจ้งว่าอันใดผิดอันใดถูก จะไม่มีวันรู้จักใจของตัวเอง และไม่มีวันรู้จักตัวเอง ดังนั้น ถ้าปฏิบัติธรรมตามแนวทางของตนเองแล้ว ย่อมเป็นการเสียเวลามากที่สุด แต่การปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมเป็นหนทางตรงที่สุด

ทุกเวลาและทุกหนทุกแห่ง นี่จึงจะเรียกว่า “การพัฒนาจิต” ถ้าหากปฏิบัติตามความคิดความเห็นของตนเองแล้ว ก็จะเกิดความคิดความสงสัยไปมากมาย มันจะพาให้คิดไปว่า “เราไม่มีบุญ เราไม่มีวาสนา ปฏิบัติธรรมก็นานนักหนาแล้ว ยังไม่รู้ ยังไม่เห็นธรรมเลยสักที” การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็น “การพัฒนาจิต” แต่เป็น “การพัฒนาความหายนะของจิต”

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มากแล้วจะสิ้นสงสัย” ความสงสัยจะไม่มีวันสิ้นไปได้ ด้วยการคิด ด้วยทฤษฎี ด้วยการคาดคะเน หรือด้วยการถกเถียงกัน หรือจะอยู่เฉยๆไม่ปฏิบัติภาวนาเลย ความสงสัยก็หายไปไม่ได้อีกเหมือนกัน กิเลสจะหายสิ้นไปได้ก็ด้วยการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะเกิดได้ก็ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น

เมื่อเราปฏิบัติธรรม เราต้องทำใจของเราให้เป็นธรรม ไม่ใช่เอาธรรมะมาตามใจเรา

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

มีเมตตา

การมีเมตตากับบุคคลที่เราไม่ชอบนั้นเป็นเรื่องยาก จึงสอนให้เจริญเมตตากับคนที่เรารักก่อน แล้วค่อยขยายออกไป

แต่กระนั้นก็เกรงว่า คงจะต้องใช้เวลายาวนาน กว่าจะมีเมตตากับคนทั้งหมดได้

เมื่อคืนฟังคำสอนแล้วก็ฉุกคิดได้

เมื่อเรารักตัวเองที่สุดเป็นแน่แท้แล้ว ก็อย่ายึดเอาอารมณ์โกรธเกลียดนั้นบ่อยๆนัก เพราะจะยิ่งไปเพิ่มอนุสัยกิเลส เพิ่มความเคยชินให้จิตเสียเปล่าๆ

หากต้องการมีสุคติเป็นที่ไป ปิดกั้นทุคติ ก็ทำอารมณ์จิตให้สบาย ขณะตายจะได้ทำจิตให้เป็นกุศลได้ง่ายขึ้น

อย่างนี้เราก็ได้ประโยชน์ นอกจากเราจะสามารถมีเมตตาให้คนอื่นได้แล้ว ตัวเราเองก็ได้ประโยชน์ด้วย

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562

ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น

หลวงปู่เทสก์  :  ต้องยกขันธ์ขึ้น  คือยกกองทุกข์ขึ้น  อันของไม่มีนั้นไม่ใช่วิปัสสนา  เงียบสงบไปหมดเลย  ว่างเปล่าสูญหมด  แล้วจะเอาอะไรมาพิจารณา  ปัญญามันก็ไม่เกิด  พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ควรพิจารณา  ไม่ใช่ควรละ

หลวงปู่บุญฤทธิ์  :  ทุกข์เกิดขึ้นกับเราก็ดีนะ จะได้เบื่อ จะได้รู้สึกว่า ไม่อยากเกิดแล้ว

แม่ชีศันสนีย์  :  ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น

"แม่น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ก็ยังน้อยกว่าน้ำตาของคนที่ถูกความทุกข์ความเศร้าโศกครอบงำ เพราะเหตุไร เธอจึงยังประมาทอยู่"

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก