วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ธรรมจิปาถะ: สีลวิสุทธิ อัปปมาทะ

สีลวิสุทธิ

การรักษาศีล เพื่อต้องการได้บุญ อยากเกิดเป็นคนรวย ไม่ได้เป็นไปเพื่อละกิเลส อย่างนี้ไม่ใช่ศีลบริสุทธิ์

ศีลบริสุทธิ์ เป็นศีลที่ประพฤติเพื่อปรารถนาพระนิพพาน

ส่วนธรรมเพื่อพระนิพพาน คือ เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อสงบ และเพื่อรู้ยิ่ง [ซึ่งหลักการตัดสินพระวินัยก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน]


อัปปมาทะ

อชิตมาณพ ศิษย์พราหมณ์วารี ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
"อะไรเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกันความอยาก ความอยากนั้นละได้ด้วยธรรมอะไร"

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
"สติเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกันความอยาก และความอยากนั้นละได้ด้วยปัญญา"

พร้อมทรงแสดงความไม่ประมาทใน ๔ สถาน คือ
๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์อันน่ากำหนัด
๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์อันน่าขัดเคือง
๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์อันน่าหลง
๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์อันน่ามัวเมา

- หนังสือพระไตรปิฎก
...................................................................................

มนุษย์ที่เกิดมาเห็นพระพุทธเจ้านั้นมีน้อย แต่ผู้ที่ได้ฟังธรรมของพระองค์นั้นน้อยกว่า และผู้เข้าใจในพระธรรมะยิ่งน้อยลงไปอีก

- หนังสือกามนิต วาสิฏฐี
...................................................................................

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต


เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา ธรรมใดเกิดแต่เหตุ
เตสํ เหตุ ตถาคโต  พระพุทธเจ้าทรงตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น
เตสฺญจ โย นิโรโธ จ และความดับเหตุของธรรมเหล่านั้น
เอวํ วาที มหาสมโณ  พระมหาสมณเจ้าทรงตรัสอย่างนี้


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หากหาข้อมูลทั่วไป ก็จะพบใจความว่า
คาถาบทนี้ เป็นการกล่าวสรุปหลักธรรมของพุทธศาสนา ซึ่งก็คืออริยสัจ 4
และเปรียบเทียบบาท ๑, ๒, ๓ กับทุกข์ สมุทัย และนิโรธ มรรค ตามลำดับ

ธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ใครจะหยิบบทไหนมาเล่ามาอธิบายก็ไม่ผิด เพราะเป็นไปเพื่อให้เหมาะกับจริตของแต่ละบุคคล
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เราก็มาทำความเข้าใจตามแบบฉบับของเราดีกว่า...

ธรรม (นอกเหนือจากความหมายของพระธรรมคำสอนนั้น) หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง สภาพ ธรรมดา

แปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เกิดมาจากเหตุปัจจัย

ความทุกข์ใจ ทุกข์กายที่เกิดขึ้น ก็เพราะอาศัยร่างกายเป็นเหตุตัวเดียว ถ้าไม่มีร่างกายนี้แล้ว เราจะทุกข์แบบนี้ไหม

แล้วร่างกายเกิดมีมาได้อย่างไร ก็เพราะอาศัยกิเลส ตัณหา อุปาทาน

ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็ต้องไม่มีร่างกาย

เมื่อไม่อยากให้มีร่างกาย ก็ต้องดับกิเลส ตัณหา อุปาทาน

และต้องการจุดเดียวคือพระนิพพาน

วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ

" คนที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้นั้น ต้องเห็นโลกเป็นทุกข์ทุกมุม  ไม่มีกรณีใดๆทั้งหมด
สิ่งที่มีในโลก จะเป็นสิ่งมีชีวิตก็ได้ วัตถุก็ดี หรือแม้แต่อารมณ์ก็ตาม
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นพื้นฐานของความทุกข์ทั้งนั้น
ไม่มีสภาวะใดๆแน่นอน ไม่มีสภาวะใดอยู่ในความมั่นคง "
-- หนังสือธรรมะเพื่อพระนิพพาน


ในอัปปมาทกถา มีความว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ แปลเป็นใจความว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม


คำนี้เคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ หากถามความเข้าใจ ก็ยังเคยเข้าใจแบบเด็กๆ เหมือนเวลาขับรถไม่ให้ประมาท ( -- เหมือนที่เคยเข้าใจคำว่า"อริยสัจ ๔", "อภิธรรม" สมัยที่ยังไม่ได้อ่านธรรมะ )


แต่ยิ่งผ่านเวลามา ยิ่งรู้ว่า คำสอนนี้ลึกซึ้งกว่านั้นมาก ถึงกระนั้น ก็ยังไม่อาจตอบได้ว่า เข้าใจคำว่า 'ไม่ประมาท' ได้ครบถ้วนแล้ว


ธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่อลงให้เหลือ ๓ คือ
๑. ทำความดี
๒. ละเว้นความชั่ว
๓. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

หรือหากจะย่อลงให้เหลือ ๑ ก็คือ ความไม่ประมาท อย่างเดียว
นั่นหมายความว่า ความไม่ประมาท กินใจความทั้งหมดของ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์


ความประมาท ประมาทอย่างไร...?


คิดว่าการเกิดเป็นของดี
-- ไม่เห็นภัยของสังสารวัฏ พอใจในการเกิดในมนุษย์ ในสวรรค์ ในพรหม

คิดว่าชีวิตนำมาซึ่งความสุข
-- อย่าลืมว่า โรคนิทธัง ร่างกายเป็นรังของโรค มีความป่วยไข้ไม่สบายเป็นธรรมดา ร้อนไป หนาวไป กระทบกระทั่งอารมณ์ไม่ชอบใจ ผิดหวังอยู่เสมอ

คิดว่ายังมีเวลาหลายปีกว่าจะตาย
 -- เคยอ่านเจอบทความของคนหนึ่ง สมมติว่าถ้าตายตอนอายุ ๖๐ ปี เขาจะเหลือวันเสาร์ให้เที่ยวอีกประมาณ ๑,๗๐๐ ครั้ง คิดแล้วจึงไม่อยากเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์...

บทความนี้เกือบจะดี แต่ยังเต็มไปด้วยความประมาทอยู่มาก
มรณานุสสติกรรมฐาน  สอนให้นึกถึงความตายทุกลมหายใจ

เหตุการณ์ของตัวเอง กระตุ้นเตือนเรื่องนี้ได้ดี คือ
ฝันว่าหายใจไม่ออก ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นความจริง จนรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา พบว่าไม่ได้หายใจจริงๆ และได้ยินเสียงกึกกักตรงจมูกเหมือนเวลาเป็นหวัด และเริ่มหายใจได้อีกครั้ง

ไม่ว่าจะด้วยอาการภูมิแพ้หรืออะไร แต่ก็ฉุกคิดได้ว่า จังหวะนั้นลืมจับพระนิพพาน ถ้าตายไปตอนนั้น คงหลงทางแน่ ถ้ารู้ว่าความตายอาจอยู่ใกล้เพียงคืนนั้น ก็ควรจะรีบฝึกจับพระนิพพานไว้


คิดว่าคนอื่นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เคยหาความไม่ดีของตัวเอง
-- หาความชั่วของตัวเอง จิตของเราตัดกิเลสได้แล้วหรือยัง


เหล่านี้คือความเข้าใจความหมายของคำว่า 'ไม่ประมาท' ในตอนนี้

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

"อยู่ในโลกของความคิดนึก"

แม้แต่การมองก็มองชั่วแอกเพื่อให้ระลึกอยู่เสมอว่า  ไม่ควรต่อเรื่องให้ยืดยาว  เมื่อเห็นแล้วก็ไม่ควรคิดวิจิตร

เป็นคนนั้น
เป็นคนนี้ เรื่องนั้น เรื่องนี้มากมาย เมื่อเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นเพียง “เห็น”

จะชั่วแอกหรือไม่ชั่วแอกก็ตาม   เห็นแล้วก็
จบ    ขณะนั้นก็จะไม่ผูกพันธ์เยื่อใย
 
จิต เมื่อเกิดขึ้น ก็ย่อมคิดนึก ไปในเรื่องราวต่างๆ ตามความทรงจำ ที่เคยจำไว้ จำไว้ในเรื่องอะไร ก็คิดไปในเรื่องนั้น เพียงแต่ว่า จะคิดด้วยกุศล หรือ
อกุศล ซึ่ง เพราะอาศัยกิเลสเป็นปัจจัย ก็ทำให้คิดไปในเรื่องราวต่างๆที่อยู่รอบตัว
และ คิดเรื่องตนเองก็ได้ แต่คิดด้วยจิตที่เป็นอกุศล ด้วยความฟุ้งซ่านเพราะอาศัย
เหตุ คือ กิเลสเป็นสำคัญ

ท่านเปรียบ จิต ดังเช่น ลิง คือ ลิงย่อมอยู่ไม่สุข เที่ยวไป เที่ยวมาในที่ต่างๆ จิต
ที่มากด้วยกิเลสก็เช่นกัน เปรียบเหมือนลิงที่อยู่ไม่สุข เที่ยวไปมาในอารมณ์ต่างๆ
ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ คิดไปในเรื่องราวต่างๆ
ซึ่งการจะจับลิง ห้ามไม่ให้ลิงไปที่ไหน  หรือ ห้ามจิต ไม่ให้ฟุ้งซ่านด้วยอกุศล ไม่ใช่
ตัวเราที่จะห้ามได้ แต่มีสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ปัญญาที่สามารถตัดกิเลส ได้ จน
หมดสิ้น ห้ามจิตที่เคยคิดไม่ดี ไปในอารมณ์ต่างๆ เป็นจิตที่ไม่มีอกุศล คิดไปในทาง
ที่ดีได้

ที่มา: คัดย่อจากกระดานสนทนา อยู่ในโลกของความคิดนึก
http://www.dhammahome.com/webboard/topic12422.html

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ทางเลือก

นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อว่า 'คนที่ทำให้คนอื่นไม่พอใจ เขาทำไปเพราะกิเลส'

เริ่มมองเห็นว่า เขาพูดเพราะกิเลส เพราะความโกรธครอบงำอยู่ ประกอบกับความไม่รู้ของเขาเอง

 
ก็คิดได้ว่า

จริงๆแล้ว คนเรามีทางเลือกนะ ว่า


เราจะเก็บความผิดพลาดของคนอื่นมาโกรธ

หรือ เราจะให้อภัยในความผิดพลาดของคนอื่น


คิดได้ดั่งนี้แล้ว ความโกรธก็หายเป็นปลิดทิ้ง และรู้สึกเหมือนได้ชัยชนะมา

ตรงกับคำพูดที่ว่า

การให้อภัย ชนะการให้ทั้งปวง

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สีเล ปติฏฐาย นโร สปญฺโญ


ในราตรีหนึ่ง เทวบุตรองค์หนึ่งได้เข้าสู่สำนักองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคในพระเชตวนาราม ทูลถามอรรถปัญหา เพื่อจะถอนเสียซึ่งวิจิกิจฉาความสงสัย ด้วยคาถาว่า

'สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีจิตอันตัณหาชฏามีอุปมาดังข่ายแห่งนายพรานครอบงำปกคลุมหุ้มห่อไว้ ทำอย่างไร บุคคลนั้นจะสามารถสางเสียซึ่งชัฏ คือตัณหา ได้'

" สีเล ปติฏฐาย นโร สปญฺโญ" "โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ"

นรชนผู้มีปัญญา มีความเพียร ตั้งตนไว้ในศีล แล้วทำสมาธิจิต และปัญญาให้เจริญอยู่ นรชนนั้นจะพึงถางชัฏอันนี้เสียได้

"สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ, ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ" "เอส มคฺโค วิสุทธิยา"

เมื่อใด โยคีบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น ก็จะเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้คือทางแห่งวิสุทธิ

วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

ทุกขนิโรธสูตร อภินันทสูตร

อังคุตรนิกาย เอกนิบาต

"...ความเสื่อมจากญาติ ก็ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อย
    ความเสื่อมจากโภคทรัพย์ ก็ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อย
    ความเสื่อมจากยศ ก็ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อย
ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย ก็คือ ความเสื่อมจากปัญญา

    ความเจริญด้วยญาติ ก็ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อย
    ความเจริญด้วยโภคทรัพย์ ก็ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อย
     ความเจริญด้วยยศ ก็ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อย
 ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือ ความเจริญด้วยปัญญา..."


ทุกขนิโรธสูตร

"...เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรมทั้ง 3 ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา นี้แลเป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์..."


อภินันทสูตร

"...ผู้ใดเพลิดเพลินในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินในทุกข์ เรายืนยันว่าผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์..."

วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

จิตเกาะกาย

ช่วงเวลาที่เดินกลับบ้านจนถึงก่อนนอน มักได้คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย
วานนี้ก็มีอารมณ์คิดไปว่า กิเลสนี้ก็ไหลไปตามร่างกาย หมายถึงว่า เกิดเป็นอะไรก็มีกิเลสไปแบบนั้น

เกิดเป็นสัตว์ มีกิเลสแบบหนึ่ง

เกิดเป็นคน ก็มีกิเลสไปอีกแบบหนึ่งที่สลับซับซ้อนขึ้น
คือ ไม่ใช่แค่ต้องการอาหารเพื่อดับทุกข์หิว แต่ต้องการปรุงแต่งรสชาติให้ถูกปากยิ่งๆขึ้นไป
นอกจากนี้ ก็มีความรักสวยรักงาม
พอถึงวัยหนุ่มสาว ก็อยากมีความรัก หลงใหลไปกับสัมผัสทางตา ทางกาย

แล้วคนที่ติดอยู่ในความรักนี้ ติดอะไร ติดร่างกาย ของอีกฝ่ายที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย
สุดท้ายก็แตกสลาย หาแก่นสารไม่ได้หรือ
เมื่อตายแล้ว จิตดวงนั้นก็ร่อนเร่ไปในวัฏสงสาร ไม่รู้อยู่ที่ไหน

เขาว่า ถ้าอยากเห็นภาพกว้างๆ ก็ต้องถอยหลังออกมา
นี่ก็เหมือนกัน ถอยไปหลายๆชาติ ให้เห็นการเวียนตายเวียนเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่งงาน มีครอบครัว มีลูกหรือ เป็นแบบนี้มากี่ภพกี่ชาติแล้ว

มีคนเขียนไว้ว่า
"เรื่องราวต่างๆในชีวิตล้วนไร้สาระไม่มีอยู่จริง เกิดจากการปรุงแต่งไปเองทั้งสิ้น"

คิดแล้วก็เห็นด้วย, รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ความสุขหรือทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ความสุขที่ได้จากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นก็ไม่ได้ให้ความสุขตลอดไป
คิดมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ต้องหยุดความรู้สึกยินดียินร้าย (เมื่อเห็นรูป ฯลฯ)

ขอแค่ไม่มีร่างกายอย่างเดียว เรื่องทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้น
จะไม่มีความรู้สึกเดือดร้อนที่จะต้องเลี้ยงชีพ ไม่ต้องกังวลว่าจะอยู่คนเดียวได้ไหม
จะมีความสุขกว่าคนอื่นได้อย่างไร หรือเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับสังคม

----------------


ยิ่งอยู่ ก็ยิ่งเจอกิเลสหลายรูปแบบ
เหมือนเป็นลำดับที่ต้องเจอ เพื่อจะได้รู้ว่าจะผ่านบททดสอบนี้ไปได้อย่างไร

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

สนทนาหลังกรรมฐาน

มีคำถามครุ่นคิดอยู่ในใจมาหลายวัน คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ตก จึงขอหลวงพ่อช่วยให้คำตอบ ค่ำวานนี้หยิบหนังสือคำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุงขึ้นมาอ่านก็เจอเลย


" หลักทางพระพุทธศาสนานำเข้า ทางโลกมันทำออก ไอ้โลกน่ะอยู่คนเดียวไม่พอ อยากมีผัว อยากมีเมียเพิ่มใช่ไหม มีผัวมีเมีย อยากมีลูกเพิ่ม...

พระพุทธศาสนาดึงเข้ามา ตัดออกให้หมด ทีละน้อยๆ ตัดเข้ามาๆหมดถึงกาย ถึงกายตัดกาย...

จิตทรงสังขารุเปกขาญาณ ความกังวลใดๆมันก็ไม่มี ถ้าวางเฉยในขันธ์ ๕ ของเราไปแล้วมันก็เฉยหมด 

จิตมันจะมีความสุข ไม่อย่างนั้นจิตจะหาความสุขไม่ได้ "


เป็นความเมตตาของหลวงพ่อที่ช่วยสั่งสอนไว้

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก