วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567

เป๊ะเว่อร์

เมื่อเช้าไปร้านนวดแผนไทย จองไว้ 10 โมง ปรากฏว่า หมอยังไม่มา
ก็เลยเดินเล่นในร้าน ไปเจอหนังสือธรรมะ
เปิดอ่านไปนิดนึง อื้ม ดีแหะ ก็ขอยืมหนังสือจากเจ้าของร้านกลับมา
แล้วข้ามหน้าแรกๆ มาเลยนะ เปิดมาเจอ 

เรื่องความหมาย "เอกัคคตา" พระท่านอยากแปลว่า ไม่ขัดกัน กลมกลืนกัน
เอ้อ เอามาใช้กับหัวข้อตัวเองได้พอดี

เรื่องถัดมา "เสียงรบกวน" ตรงนี้โดน!!!

"เสียงก็ทำหน้าที่ของเสียง เราก็เกิดความไม่พอใจ เราก็ไปทะเลาะกับเสียง ไม่ชอบเสียง
มันไม่สงบเพราะไม่ถูกใจสิ่งที่เกิดขึ้น
ตราบใดที่เราอยู่ในโลกนี้ จะบังคับโลกให้ถูกใจเรา ก่อนที่เราจะยอมสงบ เออโชคดีเหอะ ..."
- หลวงพ่อชา

คือวันก่อนมีคนเปิดเพลงดังมากกกก เปิดทิ้งไว้แล้วก็หายหัวไปไหนไม่รู้ 
แล้วก็มีแค่ฉันนั่งอ่านหนังสืออยู่คนเดียวไง จะเปิดให้พ่อคุณฟังหรอ อารมณ์เสียมากกกตอนนั้น 

พออ่านเจอหน้านี้ 5555+ อะไรจะพอดีขนาดน้าน
ถ้าเมื่อเช้าหมอมาตรงเวลาก็ไม่มีโอกาสได้เจอคำสอนนี้เลยนะเนี่ย 😸

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567

หลุด

แต่ก่อนก็คิดว่า ธรรมะ มักจะมีข้อจำกัดเรื่องภาษา ไม่สามารถอธิบายทุกอย่างได้ตรงหรอก
แล้วก็เข้าใจว่า เป็นแบบนั้นทั้งหมด
จนกระทั่งวันก่อน รู้สึกว่า ...


ใช่แหะ
"รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ว่า หลุดพ้นแล้ว"
(เม เอวํ ชานโต เอวํ ปสฺสโต วิมุตฺตมิติ)

ก็เลยอยากรู้ว่า ในพระไตรปิฎก เวลาที่พูดถึง
"อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป"
จะมีข้อความช่วงนี้ยังไง ส่วนใหญ่ก็เห็นเป็นแบบนี้นะ
"หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ", "หลุดพ้นจากอาสวะ"
ทั้งในทีฆนิกาย  มัชฌิมนิกาย

มันไม่ใช่ ตัดกิเลส (ฉิทนฺติ) ซึ่งส่วนใหญ่เจอในอปทานเอง หรือ ละกิเลส (ปหีน) ซึ่งส่วนใหญ่เจอในขุททกนิกาย
[แต่ก็แอบอ่านพันทิป เขาก็จะบอกว่า ความคิดนี้ผิดบ้าง เป็นมหายานบ้าง 555+ ไม่ว่ากัน]
[ซึ่งตัวเราเอง ก็ไม่กล้ายืนยันขนาดนั้น ปล่อยให้ผู้รู้ทำหน้าที่ไป ;)]

วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ปัญญาปารมิตาหฤทัยสูตร

อ่านหนังสือ "การพ้นทุกข์ของมหายาน" จริง ๆ ก็อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องเลยอ่ะนะ แต่มีตรงนึง น่าสนใจดี
ความว่า

"...สู้คนอื่นไม่ได้ รู้จักไม่พอใจ แต่ถ้าใจสู้คนอื่นไม่ได้ กลับไม่รู้จักไม่พอใจ"
"...สมมติว่าเราตักเตือนว่า ขอโทษ หน้าคุณมีจุดดำอยู่ เราจะได้รับการขอบคุณ ... แต่ถ้าเราไปตักเตือนว่า ใจคุณลำเอียงไปแล้ว ... กลับจะถูกเขาเกลียดเอา"

คนเขียนยกตัวอย่างเรื่องเสริมความงาม คงเทียบได้กับพวกเรื่องรูปร่างหน้าตานั่นแหละ

ก็นั่นสินะ เห็นคนที่ฝึกจิตฝึกใจได้เก่ง ๆ เราน่าจะอยากทำตามมากกว่านี่นา 😉

วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ไม่เป็นตนเองเลย ไม่พ้นไปจากการถูกปรุงแต่งเลย

ความจริงที่ไม่เขียนอะไรเพิ่ม เพราะคิดว่า ไม่มีความจำเป็นแล้ว 
แต่เจอ คาถานี้ กระแทกใจจนต้องจดไว้


"
กายเรานี้ อ่อนแอจริงหนอ
ตนเองก็ต่ำต้อย และไม่ได้เกิดขึ้นเอง
ไม่เป็นต้นเหตุ หรือไม่เป็นอารมณ์ด้วยตนเอง
ไม่มีแก่นสารเลย และไม่พ้นไปจากการถูกปรุงแต่ง
แท้จริงแล้วมันมาจากสภาวะที่สลับซับซ้อนหลายอย่าง
"


- หนังสือ วิมุตติมรรค

วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566

โสฬสปัญหา กับคำว่า "ธรรมเป็นศีรษะ"

คำว่า “ศีรษะ” ในข้อความที่ว่า 

ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป” 

คิดว่าน่าจะแปลผิด และไม่สามารถสื่อความหมายได้เลย


คำนี้ ในคาถาภาษาบาลี ใช้คำว่า มุทธะ (muddha) เมื่อตรวจสอบใน PTS Dictionary มาจากคำว่า mūḷha หรือ mugdha ในภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ความลุ่มหลง ความสับสนงุนงง ความโง่เขลา

เมื่อใช้ในความหมายนี้ก็จะได้ความว่า 

“ธรรม(/สิ่งที่)เป็นความโง่เขลาและธรรม(/สิ่งที่)เป็นเหตุให้ความโง่เขลาดับไป” 

ซึ่งสามารถสื่อความหมายได้อย่างเข้าใจ และตรงกับคำตอบของพระพุทธเจ้าที่ว่า 

อวิชชาชื่อว่าธรรม(/สิ่งที่)เป็นความโง่เขลา 
วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ 
ชื่อว่าเป็นธรรม(/สิ่งที่)เครื่องให้(/ทำให้)ความโง่เขลาดับไป

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วิภวตัณหา

ไม่อยากให้มี ไม่อยากให้เกิดขึ้น หรือ อยากให้พ้นไปจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่น่าปรารถนา
ก็จัดเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง เป็นทุกขสมุทัย หรือเหตุแห่งความทุกข์นั่นเอง

...

ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ "ความสุข...อยู่รอบตัวเรา" ของนพ.โชติ ธีตรานนท์ เขียนไว้ดีมาก

ต้องยึดมั่นในความถูกต้อง ต้องกล้าทำในสิ่งดีงาม และต้องเชื่อมั่นว่าจะได้รับในสิ่งอันชอบธรรม

ในโลกนี้ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยทำความผิด คนแต่ละคนนั้นแตกต่างกันทั้งนิสัย สติปัญญา กรรมในอดีตและปัจจุบัน น่าสงสารและน่าให้อภัยมากกว่า เราก็อย่าจองเวรจองกรรมกันเลย

...

กับอีกอันหนึ่งที่ฟังแล้วตรงกัน ก็คือ ของหลวงพ่อเยื้อน วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร จ.สุรินทร์





วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2564

เอาไว้เตือนตนเอง

บุคคลที่อยู่ในทางโลก มิควรไปกล่าวว่าบุคคลที่อยู่ในทางธรรม

บุคคลที่อยู่ในทางธรรม ก็เช่นเดียวกัน มิควรไปติติงบุคคลที่อยู่ในทางโลก

พอเรามาแตะธรรมะนิดนึงก็โพนทะนาว่าคนอื่น

พอเรารู้ธรรมะ (แต่)คนอื่นไม่รู้ 'เธอเสียเวลา เอาเวลาไปทำอะไร ทำไมไม่ไปเรียนธรรมะ'

แค่รู้ธรรมะ(เท่า)หางอึ่ง ว่าคนอื่น(เสีย)แล้ว

(ท่านจึงว่า) เรียนธรรมะแล้วเหมือนจับงูพิษที่หาง

(เพราะฉะนั้น) ไม่ต้องพูด

🍀🍀🍀

ใจมันเบื่อ อยากจะลาออก ... อย่าทำอย่างนั้นเชียวนะ

ที่มา: เรื่องที่ไกลเอามาเล่าใหม่ 1

🍀🍀🍀

เพิ่งคิดแบบเดียวกันนี้ได้ไม่นาน ก็ได้ฟังของอ.ประเสริฐพอดีเลยแหะ

สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน แค่เพียงใบไม้หนึ่งกำมือ แต่แม้ใบไม้ใบเดียว ก็ยังไม่กล้าพูดเลยว่า ได้รู้และเข้าใจขนาดนั้นแล้ว และก็ไม่รู้ด้วยว่าที่ตัวเองรู้และเข้าใจนั้น ถูกต้อง 100% แล้วหรือยัง

ในเมื่อไม่ได้รู้ใบไม้ทั้งกำมือ ทำไมจะกล้าตัดสินว่าสิ่งที่คนอื่นรู้หรือเข้าใจนั้นผิดเล่า (เหมือนตาบอดคลำช้างไง)

อาจจะเป็นขั้นตอนและวิธีของแต่ละคน ที่จะได้เข้าถึงแก่นคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่หรือ

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก