วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561

ทุกขสมุทัย

ธรรมดาคนเราเกิดมาในโลกนี้ ให้เกิดมีความพยายามขวนขวายวุ่นวาย


ให้ได้มาซึ่งอารมณ์ที่น่ายินดีน่าปรารถนาทั้งสิ้น

จริงไหม?

สู้อุตส่าห์เหนื่อยกาย เหนื่อยใจ ยากลำบาก ได้รับความทุกข์ต่างๆนานา

ก็เพื่อให้ได้ความพอใจ ในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในสัมผัสบ้าง ในอารมณ์บ้าง

แต่หารู้ไม่ว่า อยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา คือ ความปรารถนา ความยินดี คิดว่าจะนำความสุขมาให้



กิเลส ความอยาก อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
เมื่อได้สิ่งนั้นมา ก็หมกมุ่นพัวพันติดอยู่ อยากอยู่นั่นเอง
หรือเมื่อไม่ได้ ก็เศร้าโศกเสียใจ



กิเลสวัฏฏ คือ วนเวียนในเครื่องเศร้าหมองเร่าร้อน ได้แก่ อวิชชา ตัณหา และ อุปาทาน เมื่อกิเลสเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นเหตุให้ทำกรรม

กัมมวัฏฏ คือ วนเวียนในการกระทำตามอำนาจของกิเลส อันหมายถึงตัวเจตนา ซึ่งเมื่อได้กระทำกรรมแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้เกิดวิบาก คือได้ผลของกรรมที่ได้กระทำนั้น

วิปากวัฏฏ คือ วนเวียนในวิบากที่เป็นผลของกรรม
เมื่อยังมีความยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก่อให้เกิดกิเลสต่อไปอีก เป็นเหตุให้กระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรมบ้าง กุศลกรรมบ้าง หมุนวนอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

- ย่อจาก โพธิธรรมทีปนี, ไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาท

มีโอกาสได้ตัดภพตัดชาติแล้ว อย่าเกิดมาแล้วก็ตายไป 
โดยไม่ได้เข้าใกล้พระนิพพานมากขึ้นเลย


วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ปฏิจจสมุปบาท

นับเป็นธรรมอีกเรื่องที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเช่นกัน เช่นว่า 

...เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี...

ก็เกิดความสงสัยขึ้นว่า เวทนาเกิด แต่ไม่เกิดตัณหาไม่ได้หรือ และมิใช่เพราะอวิชชา(อัตตา)หรือ จึงเกิดตัณหา

ครั้นหาคำอธิบาย ก็เหมือนจะมีแต่คัดลอกตามตำรา

ยอมรับว่า การที่จะยอมรับคำตอบของใครได้นั้น คำตอบนั้นจะต้องค่อนข้างตรงใจ เพราะคำตอบจากคนที่เข้าใจ กับจากคนที่จำได้ จะไม่เหมือนกัน 

ตอนนี้ก็พบคำอธิบาย - จากหนังสืออ.วศิน - ที่ตรงใจทีเดียว ความว่า

...

ปฏิจสมุปบาทเหมือนโซ่ 12 ห่วง ผูกคล้องไว้ หาเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดไม่ได้ อาศัยกันเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ไม่ได้เป็นเหตุของอีกอันโดยเด็ดขาด

ท่านแสดงอวิชชาเป็นตัวต้นนั้น ไว้เป็นตัวอย่าง เปรียบเหมือนสายโซ่ที่ติดกันอยู่ เลือกจับห่วงใดห่วงหนึ่งเป็นอันตั้งต้นแล้ว ย่อมเวียนมาชนห่วงเดิม

ในสายปฏิจสมุปบาท สัมพันธ์กันทุกช่วง ไม่จำเป็นต้องตามลำดับเสมอไป แม้ในช่วงที่ห่างกัน ก็เป็นเหตุเป็นผลกันได้
...

วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

เกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก?

คงเป็นอีกเรื่องที่ได้ยินจนเข้าใจผิดๆมา...

ครั้นได้ยิน เรื่องการเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก อุปมาเหมือนทุกๆ 100 ปี เต่าตาบอดที่อยู่ในทะเล มีลมพัดทั้ง 4 ทิศ จะโผล่หัวขึ้นมา แล้วลอดห่วงนั้นได้พอดี 

ก็เหมือนเดิม ฟังแล้วยังค่อนข้างคลางแคลงใจ...

จนกระทั่งได้เจอ พาลบัณฑิตสูตร

จริงๆแล้ว พระพุทธเจ้าเปรียบด้วยเรื่องของคนพาล
ช่วยให้เกิดศรัทธาว่า ไม่มีคำสอนใดของพระพุทธเจ้าที่ขัดแย้งกับใจเลย

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้ ยังจะเร็วกว่า เรากล่าวความเป็นมนุษย์ที่คนพาลผู้ไปสู่วินิบาตคราวหนึ่งแล้วจะพึงได้ ยังยากกว่านี้ นั่นเพราะเหตุไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะในตัวคนพาลนี้ไม่มีความประพฤติธรรม ความประพฤติสงบ การทำกุศล การทำบุญ มีแต่การกินกันเอง การเบียดเบียนคนอ่อนแอ ฯ


ก็อย่าได้เข้าใจผิดคิดว่าเกิดเป็นมนุษย์นั้นง่ายหรือยาก แต่ใจความคือ ทำไมถึงกล่าวกันมาผิดเพี้ยนแบบนี้ (อีกแล้ว) หนอ

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก